เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] สุตตันติกทุกนิกเขปะ
ปฏิจจสมุปบาทที่ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขาร
เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูป
เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะ
เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด
ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ในปฏิจจสมุปบาทนั้น
นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท
23. ฐานกุสลตาทุกะ
[1344] ความเป็นผู้ฉลาดในฐานะ เป็นไฉน
ธรรมใด ๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมใด ๆ ลักษณะ
นั้น ๆ เรียกว่าฐานะ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือก
เฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ในฐานะนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในฐานะ
[1345] ความเป็นผู้ฉลาดในอฐานะ เป็นไฉน
ธรรมใด ๆ ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัย เพื่อความเกิดขึ้นแห่งธรรมใด ๆ ลักษณะ
นั้น ๆ ชื่อว่าอฐานะ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือก
เฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ในอฐานะนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในอฐานะ
24. อาชชวทุกะ
[1346] ความซื่อตรง เป็นไฉน
ความซื่อตรง ความไม่คด ความไม่งอ ความไม่โกง นี้เรียกว่าความเป็นผู้
ซื่อตรง
[1347] ความอ่อนโยน เป็นไฉน
ความอ่อนโยน ความละมุนละไม ความไม่แข็ง ความไม่กระด้าง ความเจียมใจ
นี้เรียกว่าความอ่อนโยน

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :336 }


พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] สุตตันติกทุกนิกเขปะ
25. ขันติทุกะ
[1348] ขันติ เป็นไฉน
ความอดทน กิริยาที่อดทน ความอดกลั้น ความไม่ดุร้าย ความไม่เกรี้ยวกราด
ความแช่มชื่นแห่งจิต นี้เรียกว่าขันติ
[1349] โสรัจจะ เป็นไฉน
ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิด
ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่าโสรัจจะ แม้ความสำรวมในศีลทั้งหมดก็ชื่อว่า
โสรัจจะ
26. สาขัลยทุกะ
[1350] ความมีวาจาอ่อนหวาน เป็นไฉน
วาจาใดเป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น เกี่ยวผู้อื่นไว้ ยั่วให้โกรธ ไม่เป็นไป
เพื่อสมาธิ ละวาจาเช่นนั้นเสีย วาจาใด ไร้โทษ สบายหู ไพเราะจับใจ เป็นวาจาของ
ชาวเมือง เป็นที่เจริญใจของชนหมู่มาก กล่าววาจาเช่นนั้น ความเป็นผู้มีวาจา
อ่อนหวาน ความเป็นผู้มีวาจาสละสลวย ความเป็นผู้มีวาจาไม่หยาบคาย ใน
ลักษณะดังกล่าวมานั้น นี้เรียกว่าความมีวาจาอ่อนหวาน
[1351] การปฏิสันถาร เป็นไฉน
ปฏิสันถาร 2 คือ อามิสปฏิสันถาร และธรรมปฏิสันถาร
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปฏิสันถารด้วยอามิส หรือมีปฏิสันถารด้วย
ธรรม นี้เรียกว่าปฏิสันถาร
27. อินทริเยสุอคุตตทวารตาทุกะ
[1352] ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้วรวบถือ1 แยกถือ2 ไม่ปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคือ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี) คือมองภาพรวมโดยไม่พิจารณาลงไปในรายละเอียด เช่นมองว่า รูปนั้นสวย
รูปนี้ไม่สวย
2 คำว่า แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี) คือมองแยกพิจารณาเป็นส่วน ๆ ไป เช่น ตาสวย แต่จมูกไม่สวย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :337 }