เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] ทุกนิกเขปะ สัญโญชนโคจฉกะ
4. สัญโญชนโคจฉกะ
1. สัญโญชนทุกะ
[1118] สภาวธรรมที่เป็นสังโยชน์ เป็นไฉน
สังโยชน์ 10 คือ

1. กามราคสังโยชน์ 2. ปฏิฆสังโยชน์
3. มานสังโยชน์ 4. ทิฏฐิสังโยชน์
5. วิจิกิจฉาสังโยชน์ 6. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์
7. ภวราคสังโยชน์ 8. อิสสาสังโยชน์
9. มัจฉริยสังโยชน์ 10. อวิชชาสังโยชน์

[1119] บรรดาสังโยชน์ 10 นั้น กามราคสังโยชน์ เป็นไฉน
ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลิดเพลินในกาม ตัณหา
ในกาม สิเนหาในกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม ความลุ่มหลงในกาม ความ
หมกมุ่นในกาม ในกามทั้งหลาย นี้เรียกว่ากามราคสังโยชน์
[1120] ปฏิฆสังโยชน์ เป็นไฉน
ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้เคยทำความเสื่อมเสียแก่เรา ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า
ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียแก่เรา ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสีย
แก่เรา ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้เคยทำความเสื่อมเสีย ฯลฯ กำลังทำความ
เสื่อมเสีย ฯลฯ จักทำความเสื่อมเสียแก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา ความ
อาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้เคยทำความเจริญ ฯลฯ กำลังทำความเจริญ ฯลฯ จักทำความ
เจริญแก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา หรือความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะ
อันไม่สมควร จิตอาฆาต ความขัดเคือง ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความเคือง
ความขุ่นเคือง ความพล่านไป โทสะ ความคิดประทุษร้าย ความคิดมุ่งร้าย ความ
ขุ่นจิต ธรรมชาติที่ประทุษร้ายใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ มีลักษณะ
เช่นว่านี้ (และ) ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย
ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความพิโรธ ความแค้น
ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า
ปฏิฆสังโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :285 }