เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] ทุกนิกเขปะ อาสวโคจฉกะ
กามาสวะเป็นอาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะเพราะอวิชชาสวะ อวิชชาสวะ
เป็นอาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะเพราะกามาสวะ ภวาสวะเป็นอาสวะและสัมปยุต
ด้วยอาสวะเพราะอวิชชาสวะ อวิชชาสวะเป็นอาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะเพราะ
ภวาสวะ ทิฏฐาสวะเป็นอาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะเพราะอวิชชาสวะ อวิชชาสวะ
เป็นอาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะเพราะทิฏฐาสวะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็น
อาสวะและสัมปยุตด้วยอาสวะ
[1115] สภาวธรรมที่สัมปยุตด้วยอาสวะแต่ไม่เป็นอาสวะ เป็นไฉน
เว้นสภาวธรรมที่เป็นอาสวะเหล่านั้นแล้ว สภาวธรรมที่สัมปยุตด้วยอาสวะ
แต่ไม่เป็นอาสวะ ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า
สัมปยุตด้วยอาสวะแต่ไม่เป็นอาสวะ
6. อาสววิปปยุตตสาสวทุกะ
[1116] สภาวธรรมที่วิปปยุตจากอาสวะแต่เป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็น
ไฉน
สภาวธรรมที่วิปปยุตจากอาสวะแต่เป็นอารมณ์ของอาสวะ ได้แก่ สภาวธรรม
ที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต ซึ่งเป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นกามาวจร
รูปาวจร และอรูปาวจร ได้แก่ รูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้
ชื่อว่าวิปปยุตจากอาสวะแต่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
[1117] สภาวธรรมที่วิปปยุตจากอาสวะและไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เป็นไฉน
มรรค ผลของมรรคที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าวิปปยุตจากอาสวะและไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
อาสวโคจฉกะ จบ
ปฐมภาณวารในนิกเขปกัณฑ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :284 }


พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] ทุกนิกเขปะ สัญโญชนโคจฉกะ
4. สัญโญชนโคจฉกะ
1. สัญโญชนทุกะ
[1118] สภาวธรรมที่เป็นสังโยชน์ เป็นไฉน
สังโยชน์ 10 คือ

1. กามราคสังโยชน์ 2. ปฏิฆสังโยชน์
3. มานสังโยชน์ 4. ทิฏฐิสังโยชน์
5. วิจิกิจฉาสังโยชน์ 6. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์
7. ภวราคสังโยชน์ 8. อิสสาสังโยชน์
9. มัจฉริยสังโยชน์ 10. อวิชชาสังโยชน์

[1119] บรรดาสังโยชน์ 10 นั้น กามราคสังโยชน์ เป็นไฉน
ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลิดเพลินในกาม ตัณหา
ในกาม สิเนหาในกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม ความลุ่มหลงในกาม ความ
หมกมุ่นในกาม ในกามทั้งหลาย นี้เรียกว่ากามราคสังโยชน์
[1120] ปฏิฆสังโยชน์ เป็นไฉน
ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้เคยทำความเสื่อมเสียแก่เรา ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า
ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียแก่เรา ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสีย
แก่เรา ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้เคยทำความเสื่อมเสีย ฯลฯ กำลังทำความ
เสื่อมเสีย ฯลฯ จักทำความเสื่อมเสียแก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา ความ
อาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้เคยทำความเจริญ ฯลฯ กำลังทำความเจริญ ฯลฯ จักทำความ
เจริญแก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา หรือความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะ
อันไม่สมควร จิตอาฆาต ความขัดเคือง ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความเคือง
ความขุ่นเคือง ความพล่านไป โทสะ ความคิดประทุษร้าย ความคิดมุ่งร้าย ความ
ขุ่นจิต ธรรมชาติที่ประทุษร้ายใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ มีลักษณะ
เช่นว่านี้ (และ) ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย
ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความพิโรธ ความแค้น
ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า
ปฏิฆสังโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :285 }