เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [1. จิตตุปปาทกัณฑ์] กุศลบท กามาวจรกุศลจิตดวงที่ 1 บทภาชนีย์
1. จิตตุปปาทกัณฑ์
กุศลบท
กามาวจรกุศลจิต
กุศลจิตดวงที่ 1
[1] สภาวธรรม1 ที่เป็นกุศล เป็นไฉน
จิตที่เป็นกามาวจรซึ่งเป็นกุศล สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณ มีรูป
เป็นอารมณ์ มีเสียงเป็นอารมณ์ มีกลิ่นเป็นอารมณ์ มีรสเป็นอารมณ์ มีโผฏฐัพพะ
เป็นอารมณ์ มีธรรมเป็นอารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นในสมัยใด ในสมัยนั้น
ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์
สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ
สมาธิพละ ปัญญาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อนภิชฌา
อัพยาบาท สัมมาทิฏฐิ หิริ โอตตัปปะ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตต-
ลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา
จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา จิตตุชุกตา สติ สัมปชัญญะ สมถะ วิปัสสนา ปัคคาหะ
และอวิกเขปะ ก็เกิดขึ้น หรือสภาวธรรมที่ไม่เป็นรูปซึ่งอิงอาศัยกันเกิดขึ้นแม้อื่นใน
สมัยนั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นกุศล
บทภาชนีย์
[2] ผัสสะ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความกระทบ กิริยาที่กระทบ กิริยาที่ถูกต้อง ภาวะที่ถูกต้อง ในสมัยนั้น
นี้ชื่อว่าผัสสะที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[3] เวทนา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 คำว่า สภาวธรรม บาลีคือ ธมฺมา ในพระอภิธรรมนี้ ใช้ในความหมายว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ เป็นแต่
สภาวธรรมเท่านั้น (อภิ.สงฺ.อ. 86, สัททนีติธาตุมาลา 449)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :27 }


พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [1. จิตตุปปาทกัณฑ์] กุศลบท กามาวจรกุศลจิตดวงที่ 1 บทภาชนีย์
ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุที่
เหมาะสมกัน ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวย
อารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าเวทนาที่เกิดขึ้น
ในสมัยนั้น
[4] สัญญา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้ อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุ
ที่เหมาะสมกัน ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าสัญญาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[5] เจตนา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความจงใจ กิริยาที่จงใจ ภาวะที่จงใจ อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุ
ที่เหมาะสมกัน ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่า เจตนาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[6] จิต ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
จิต 1มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณ-
ขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ1 ที่เหมาะสมกัน ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าจิตที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[7] วิตก ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่าง ๆ ความดำริ ความที่จิตแนบแน่นใน
อารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ
ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าวิตกที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[8] วิจาร ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา ความ
ที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งอารมณ์ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าวิจารที่เกิดขึ้นใน
สมัยนั้น
[9] ปีติ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความยินดีอย่างยิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง
ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความตื่นเต้น ความที่จิตชื่นชมยินดี ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่า
ปีติที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น

เชิงอรรถ :
1-1 คำเหล่านี้เป็นไวพจน์ของจิตทั้งนั้น (อภิ.สงฺ.อ. 191-192)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :28 }