เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] ติกนิกเขปะ
[1008] วิจิกิจฉา เป็นไฉน
ปุถุชนย่อมเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา
ในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต ในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปบาทที่ว่า
เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ภาวะ
ที่เคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่าง ๆ ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็น
สองทาง ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถถือเอาโดย
ส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถหยั่งลงถือเอาเป็น
ยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ นี้เรียกว่าวิจิกิจฉา
[1009] สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน
สมณพราหมณ์ภายนอกแต่ศาสนานี้ มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้
ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลและพรต ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดาร
คือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สังโยชน์คือทิฏฐิ
ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด
ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียก
ว่าสีลัพพตปรามาส
[1010] สังโยชน์ 3 เหล่านี้และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ 3
นั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยสังโยชน์ 3 นั้น กายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีสังโยชน์ 3 นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า
ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค
[1011] สภาวธรรมที่ต้องประหาณด้วยมรรคเบื้องบน 3 เป็นไฉน
โลภะ โทสะ โมหะที่เหลือ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับโลภะ โทสะ
โมหะนั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยโลภะ โทสะ โมหะ
นั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีโลภะ โทสะ โมหะนั้นเป็นสมุฏฐาน
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าต้องประหาณด้วยมรรคเบื้องบน 31
[1012] สภาวธรรมที่ไม่ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรคและมรรค
เบื้องบน 3 เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 อภิ.สงฺ.อ. 91

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :261 }