เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [2. รูปกัณฑ์] รูปวิภัตติ ทุกนิทเทส สุขุมรูปทุกะ
สุขุมรูปทุกะ
[720] รูปที่เป็นกายวิญญัติ นั้นเป็นไฉน
ความเข้มแข็ง กิริยาที่เข้มแข็งด้วยดี ภาวะที่เข้มแข็งด้วยดี การแสดงให้รู้ความ
หมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมาย ภาวะที่แสดงให้รู้ความหมายแห่งกายของ
บุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล มีจิตเป็นอกุศล มีจิตเป็นอัพยากฤต ก้าวไปอยู่ ถอยกลับอยู่
แลดูอยู่ เหลียวดูอยู่ คู้เข้าอยู่ หรือเหยียดออกอยู่ รูปนี้ชื่อว่าเป็นกายวิญญัติ
[721] รูปที่ไม่เป็นกายวิญญัติ นั้นเป็นไฉน
จักขายตนะ ฯลฯ กวฬิงการาหาร รูปนี้ชื่อว่าไม่เป็นกายวิญญัติ
[722] รูปที่เป็นวจีวิญญัติ นั้นเป็นไฉน
การพูด การเปล่งวาจา การเจรจา การกล่าว การป่าวร้อง การโฆษณา
วาจา วจีเภท แห่งบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล มีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากฤต
นี้เรียกว่า วาจา การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมาย ภาวะที่
แสดงให้รู้ความหมายด้วยวาจานั้น รูปนี้ชื่อว่าเป็นวจีวิญญัติ
[723] รูปที่ไม่เป็นวจีวิญญัติ นั้นเป็นไฉน
จักขายตนะ ฯลฯ กวฬิงการาหาร รูปนี้ชื่อว่าไม่เป็นวจีวิญญัติ
[724] รูปที่เป็นอากาสธาตุ นั้นเป็นไฉน
อากาศ ธรรมชาติที่นับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติที่นับว่าความว่าง
เปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่างซึ่งมหาภูตรูป 4 ถูกต้องไม่ได้ รูปนี้ชื่อว่า
เป็นอากาสธาตุ1
[725] รูปที่ไม่เป็นอากาสธาตุ นั้นเป็นไฉน
จักขายตนะ ฯลฯ กวฬิงการาหาร รูปนี้ชื่อว่าไม่เป็นอากาสธาตุ
[726] รูปที่เป็นอาโปธาตุ นั้นเป็นไฉน
ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว
ธรรมชาติเป็นเครื่องเกาะกุมรูป รูปนี้ชื่อว่าเป็นอาโปธาตุ

เชิงอรรถ :
1 อภิ.วิ. 35/6177/99

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :217 }