เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [1. จิตตุปปาทกัณฑ์] โลกุตตรกุศลจิต มรรคจิตดวงที่ 4
มรรคจิตดวงที่ 4
[363] สภาวธรรมที่เป็นกุศล เป็นไฉน
โยคาวจรบุคคลเจริญฌานที่เป็นโลกุตตระซึ่งเป็นเหตุนำออกจากวัฏฏทุกข์ให้ถึง
นิพพาน เพื่อบรรลุภูมิที่ 4 เพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา
โดยไม่มีส่วนเหลือ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เป็นทุกขาปฏิปทา-
ทันธาภิญญา อยู่ในสมัยใด ในสมัยนั้น ผัสสะ ฯลฯ อัญญินทรีย์ ฯลฯ อวิกเขปะ ก็
เกิดขึ้น ฯลฯ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นกุศล
[364] อัญญินทรีย์ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความ
กำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะ
ที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ
ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความ
เห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญา
เหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา
ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้น
ธรรม สัมมาทิฏฐิ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค เพื่อรู้
ธรรมที่รู้แล้ว เพื่อเห็นธรรมที่เห็นแล้ว เพื่อบรรลุธรรมที่บรรลุแล้ว เพื่อทราบธรรม
ที่ทราบแล้ว เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าอัญญินทรีย์1
ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ฯลฯ อวิกเขปะ ก็เกิดขึ้น หรือสภาวธรรมที่ไม่เป็นรูปซึ่งอิง
อาศัยกันเกิดขึ้นแม้อื่นในสมัยนั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นกุศล
โลกุตตรจิต จบ

เชิงอรรถ :
1 อภิ.วิ. 35/221/148

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :109 }


พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [1. จิตตุปปาทกัณฑ์] อกุศลบท อกุศลจิต 12 อกุศลจิตดวงที่ 1
อกุศลบท
อกุศลจิต 12
อกุศลจิตดวงที่ 1
[365] สภาวธรรมที่เป็นอกุศล เป็นไฉน
จิตที่เป็นอกุศล สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยทิฏฐิ มีรูปเป็นอารมณ์ มี
เสียงเป็นอารมณ์ มีกลิ่นเป็นอารมณ์ มีรสเป็นอารมณ์ มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์
มีธรรมเป็นอารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นในสมัยใด ในสมัยนั้น ผัสสะ
เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์
มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ
มิจฉาสมาธิ วิริยพละ สมาธิพละ อหิริกพละ อโนตตัปปพละ โลภะ โมหะ
อภิชฌา มิจฉาทิฏฐิ อหิริกะ อโนตตัปปะ สมถะ ปัคคาหะ และอวิกเขปะ ก็เกิดขึ้น
หรือสภาวธรรมที่ไม่เป็นรูปซึ่งอิงอาศัยกันเกิดขึ้นแม้อื่นในสมัยนั้น สภาวธรรม
เหล่านี้ชื่อว่าเป็นอกุศล
[366] ผัสสะ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความกระทบ กิริยาที่กระทบ กิริยาที่ถูกต้อง ภาวะที่ถูกต้อง ในสมัยนั้น
นี้ชื่อว่าผัสสะที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[367] เวทนา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนธาตุที่เหมาะ
สมกัน ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์
ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าเวทนาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[368] สัญญา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้ อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุ
ที่เหมาะสมกัน ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าสัญญาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
[369] เจตนา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความจงใจ กิริยาที่จงใจ ภาวะที่จงใจ อันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุ
ที่เหมาะสมกัน ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าเจตนาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :110 }