เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [46. ชคติทายกวรรค] 1. ชคติทายกเถราปทาน
46. ชคติทายกวรรค
หมวดว่าด้วยพระชคติทายกะเป็นต้น
1. ชคติทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระชคติทายกเถระ
(พระชคติทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ให้สร้างแท่นบูชาไว้ที่ควงไม้โพธิ์
ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ประเสริฐของพระมุนีพระนามว่าธัมมทัสสี
[2] ข้าพเจ้าพลัดตกเหวก็ดี ภูเขาก็ดี
ต้นไม้ก็ดี ย่อมได้ที่รองรับ
นี้เป็นผลแห่งการสร้างแท่นบูชา
[3] โจรไม่เบียดเบียนข้าพเจ้า กษัตริย์ก็ไม่ดูหมิ่นข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ารอดพ้นจากศัตรูทุกจำพวก
นี้เป็นผลแห่งการสร้างแท่นบูชา
[4] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ข้าพเจ้าย่อมเป็นผู้ที่เขาบูชาในที่ทุกสถาน
นี้เป็นผลแห่งการสร้างแท่นบูชา
[5] ในกัปที่ 1,800 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ให้สร้างแท่นบูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างแท่นบูชา
[6] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :90 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [46. ชคติทายกวรรค] 2. โมรหัตถิยเถราปาทาน
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[7] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[8] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระชคติทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ชคติทายกเถราปทานที่ 1 จบ

2. โมรหัตถิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมรหัตถิยเถระ1
(พระโมรหัตถิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[9] ข้าพเจ้าถือพัดหางนกยูงเข้าเฝ้าพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ถวายพัดหางนกยูง
[10] ด้วยพัดหางนกยูงนี้ และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ไฟ 3 กอง2ของข้าพเจ้าดับสนิทแล้ว
ข้าพเจ้าจึงได้ความสุขอันไพบูลย์

เชิงอรรถ :
1 พระโมรหัตถิยเถระ หมายถึงพระเสนกเถระหลานของพระอุรุเวลกัสสปเถระ (ขุ.เถร.อ. 2/6/17)
2 ไฟ 3 กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ และไฟคือโมหะ (ที.ปา. (แปล) 11/305/268)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :91 }