เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 2. เอกฉัตติยเถราปทาน
[47] ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม บางกอกำลังมีดอกบาน
บางกอก็มีกลีบและเกสร หลุดร่วง
อยู่ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[48] ปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย
ฝูงปลาเค้า และฝูงปลาตะเพียน ต่างว่ายวนอยู่ในน้ำใส
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[49] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี
และต้นลำเจียกซึ่งขึ้นอยู่ที่ริมฝั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[50] น้ำหวานไหลออกจากเหง้าบัว
นมสดและเนยใสไหลออกจากก้านบัว
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[51] ใกล้อาศรมนั้น มีเนินทรายที่สวยงามดาษดื่น
มีไม้ดอกที่อาศัยน้ำเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
ผลิดอกขาวบานสะพรั่ง
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[52] ฤๅษีทั้งหลายผู้สวมชฎาและเครื่องบริขาร
นุ่งห่มผ้าหนังสัตว์ ทรงผ้าเปลือกไม้
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[53] ฤๅษีทั้งหลายมีปกติทอดสายตาดูประมาณชั่วแอก
มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบ ไม่มีความยินดี
ไม่มีความกำหนัดในกาม อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[54] ฤๅษีทั้งหลายผู้มีขนรักแร้ เล็บ และมีขนงอกยาว
มีฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ คลุกฝุ่นและละออง
ล้วนอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :8 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [42. ภัททาลิวรรค] 2. เอกฉัตติยเถราปทาน
[55] ฤๅษีเหล่านั้นล้วนเชี่ยวชาญอภิญญา
เหาะไปในท้องฟ้าได้ เมื่อเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[56] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อมอยู่ในป่าใหญ่
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความยินดีในฌาน
จนไม่รู้จักกลางคืนและกลางวัน
[57] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้ทรงเป็นมหามุนี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนคือโมหะให้พินาศไป
[58] ครั้งนั้น ศิษย์บางรูปประสงค์จะเล่าเรียนคัมภีร์ลักษณะ
อันมีองค์ 61 ในคัมภีร์พระเวท2 ได้มายังสำนักของข้าพเจ้า
[59] พระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้ทรงเป็นมหามุนี
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เมื่อจะทรงประกาศสัจจะ 43
จึงได้ทรงแสดงอมตบท4

เชิงอรรถ :
1 ลักษณะมีองค์ 6 ในที่นี้หมายถึงมนตร์พรหมจินดามีองค์ 6 คือ (1) กัปปศาสตร์ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับ
การบูชายัญ) (2) พยากรณ์ศาสตร์ (แสดงการแยกปกติ) (3) นิรุตติศาสตร์ (แสดงศัพท์ เติมปัจจัย)
(4) สิกขาศาสตร์ (แสดงฐานกรณ์และปตยนะของอักษร) (5) ฉันโทวิจิติศาสตร์ (แสดงลักษณะของฉันท์)
(6) โชติสัตถศาสตร์ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์) (ขุ.วิ.อ.
996/309)
ดูเทียบเวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี 6 อย่างคือ (1) ศึกษา คือ วิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง
(2) ไวยากรณ์ (3) ฉันท์ (4) เชยติส คือดาราศาสตร์ (5) นิรุกติ คือกำเนิดของคำ และ (6) กัลปะคือ
วิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 773)
2 คัมภีร์พระเวท หมายถึงคัมภีร์ของพราหมณ์ คัมภีร์ที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤตของชาวฮินดู (ที.สี.อ.
1/256/223)
3 สัจจะ 4 ได้แก่ (1) ทุกข์ (2) สมุทัย (3) นิโรธ (4) มรรค (ขุ.อป.อ. 2/7/107)
4 ดูเชิงอรรถหน้า 4 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :9 }