เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] สโมธานกถา
ท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยความเป็นภัย
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นทางเกษมแล้ว
จงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการเถิด
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
นิเทสแห่งเนกขัมมบารมีเป็นต้น จบ
ทราบว่าพระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงยกย่องบุพจริยา
ของพระองค์ จึงได้ตรัสธรรมปริยายชื่อพุทธาปทานีย์
ด้วยประการฉะนี้แล

สโมธานกถา
สรุปการบำเพ็ญบารมี 30
พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
“การบำเพ็ญบารมีอันเป็นธรรมเครื่องบ่มพระโพธิญาณเหล่านี้
จัดเป็นบารมี 10 อุปบารมี 10 และปรมัตถบารมี 10
คือ การบำเพ็ญทานในภพที่เป็นพระเจ้าสิวิราช
ผู้ประเสริฐเป็นทานบารมี 1
ในภพที่เราเป็นเวสสันดรและเวลามพราหมณ์เป็นทานอุปบารมี 2
ในภพที่เราเป็นอกิตติดาบสอดอาหารนั้น เป็นทานอุปบารมี
ในภพที่เราเป็นพญาไก่ป่า สีลวนาคและพญากระต่าย
เป็นทานปรมัตถบารมี 3
ในภพที่เราเป็นพญาวานร ช้างฉัททันต์และช้างเลี้ยงมารดา
เป็นศีลบารมี” 4
การรักษาศีลในภพที่เราเป็นจัมเปยยนาคราช
และภูริทัตตนาคราชเป็นศีลอุปบารมี 5
ในภพที่เราเป็นสังขปาลบัณฑิตเป็นศีลปรมัตถบารมี 6

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :776 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] สโมธานกถา
ในภพที่เราเป็นยุธัญชัยกุมาร มหาโควินทพราหมณ์ คนเลี้ยงช้าง
อโยฆรราชโอรส ภัลลาติ สุวรรณสาม มฆเทพ
และเนมิราช บารมีเหล่านี้เป็นอุปบารมี
ในภพที่เราเป็นมโหสถ ผู้เป็นทรัพย์ของรัฐ กุณฑล ตัณฑิละ
และนกกระทา บารมีเหล่านี้เป็นปัญญาอุปบารมี 7
ในภพที่เราเป็นวิธูรบัณฑิตและสุริยพราหมณ์ มาตังคพราหมณ์
ผู้เป็นศิษย์เก่าของอาจารย์ บารมีทั้ง 2 นี้ เป็นปัญญาบารมี 8
ในภพที่เราเป็นพระราชาผู้มีศีล มีความเพียร
เป็นผู้ก่อเกิดสัตตุภัสตชาดก บารมีนี้แลเป็นปัญญาปรมัตถบารมี 9
ในภพที่เราเป็นพระราชา ผู้มีความบากบั่น
เป็นวิริยปรมัตถบารมี 10
ในภพที่เราเป็นธรรมปาลกุมารเป็นขันติบารมี 12
ในภพที่เราเป็นธรรมิกเทพบุตร
ทำสงครามกับอธรรมิกเทพบุตร
เรียกว่าขันติอุปบารมี 13
ในภพที่เราเป็นขันติวาทีดาบสแสวงหาพุทธภูมิ
ด้วยการบำเพ็ญขันติบารมี
ได้ทำกรรมที่ทำได้ยากเป็นอันมาก นี้เป็นขันติปรมัตถบารมี 14
ในภพที่เราเป็นสสบัณฑิต นกคุ่ม ซึ่งประกาศคุณสัจจะ
ทำไฟให้ดับด้วยสัจจะ นี้เป็นสัจจบารมี 15
ในภพที่เราเป็นปลาอยู่ในน้ำ ได้ทำสัจจะอย่างสูง
ทำฝนให้ตกห่าใหญ่ นี้เป็นสัจจบารมีของเรา
ในภพที่เราเป็นสุปารบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์
ยังเรือให้ข้ามสมุทรจนถึงฝั่งด้วยสัจจะ
เป็นกัณหทีปายนดาบส ระงับพิษได้ด้วยสัจจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :777 }