เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 6. มูคปักขจริยา
[45] แม้ครั้งนั้น พวกญาติก็เชื้อเชิญเราด้วยกามโภคะทั้งหลาย
เราได้บอกความพอใจแม้แก่เขาเหล่านั้นว่า
อย่าเชื้อเชิญเราด้วยสิ่งเหล่านั้นเลย
[46] น้องชายของเราเป็นบัณฑิตชื่อว่านันทะ
แม้เขาก็คล้อยตามเรา ชอบใจการบรรพชา
[47] แม้ครั้งนั้น เราคือโสณบัณฑิต นันทบัณฑิต
มารดาและบิดาทั้ง 2 ของเรา
ก็ละทิ้งโภคะทั้งหลายแล้วเข้าป่าใหญ่ ฉะนี้แล
โสณนันทบัณฑิตจริยาที่ 5 จบ

6. มูคปักขจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระมูคปักขกุมาร
[48] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสี
ชนทั้งหลายเรียกเราโดยชื่อว่ามูคปักขกุมารบ้าง เตมิยกุมารบ้าง
[49] ครั้งนั้น นางสนมกำนัล 16,000 นาง ไม่มีพระราชโอรส
โดยวันคืนล่วงไป ๆ เราเกิดขึ้นเพียงผู้เดียว
[50] พระราชบิดารับสั่งให้กั้นเศวตฉัตร
ให้เลี้ยงดูเราผู้เป็นบุตรสุดที่รักซึ่งได้โดยยาก
เป็นอภิชาตบุตร ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง บนที่นอน
[51] ครั้งนั้น เรานอนหลับอยู่บนที่นอนอันอ่อนนุ่ม
ตื่นขึ้นแล้วได้เห็นเศวตฉัตร ซึ่งเป็นเหตุให้เราตกนรก
[52] ความสะดุ้งหวาดกลัว เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
พร้อมกับได้เห็นเศวตฉัตร เราถึงความตัดสินใจว่า
เมื่อไรหนอ เราจึงจะเปลื้องราชสมบัตินี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :764 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 6. มูคปักขจริยา
[53] เทวดาผู้เป็นสาโลหิตของเรามาก่อน
ผู้ใคร่ประโยชน์ต่อเรา เห็นเราประสบทุกข์
จึงแนะนำเราให้ประกอบในเหตุ 3 ประการว่า
[54] ท่านจงอย่าแสดงความเป็นบัณฑิต
จงแสดงความเป็นคนโง่แก่ชนทั้งปวง
ชนทั้งหมดก็จะดูหมิ่นท่าน
ประโยชน์จักสำเร็จแก่ท่านด้วยอาการอย่างนี้
[55] เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวดังนี้ว่า
เทวดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่ท่านกล่าวกับเรา
ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์
เป็นผู้ใคร่ความเกื้อกูลแก่เรา
[56] ครั้นเราได้ฟังคำของเทวดานั้นแล้ว
เหมือนได้พบฝั่งในสาคร ร่าเริง ตื้นตันใจ
ได้อธิษฐานองค์ 3 ประการ
[57] คือ เราเป็นคนใบ้ เป็นคนหูหนวก
เป็นคนง่อยเปลี้ย เว้นจากคติ
เราอธิษฐานองค์ 3 ประการนี้อยู่ 16 ปี
[58] ครั้งนั้น เสนาบดีเป็นต้นตรวจดูมือเท้าลิ้นและช่องหูของเราแล้ว
เห็นความไม่บกพร่องของเราก็ติเตียนว่า เป็นคนกาลกิณี
[59] แต่นั้น ชาวชนบท เสนาบดี และปุโรหิตทั้งปวง
ร่วมใจกันทั้งหมด ดีใจการที่รับสั่งให้นำไปทิ้ง
[60] เรานั้นได้ฟังความประสงค์ของเสนาบดีเป็นต้นนั้นแล้ว
ร่าเริง ตื้นตันใจว่า เราประพฤติตบะมาเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นสำเร็จแล้วแก่เรา
[61] ราชบุรุษทั้งหลายอาบน้ำให้เรา
ไล้ทาด้วยของหอม สวมราชมงกุฎราชาภิเษกแล้ว
ให้กั้นเศวตฉัตรทำประทักษิณนคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :765 }