เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 2. โสมนัสสจริยา
[16] พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทสงบราบคาบแล้ว
ได้ตรัสถามชฎิลโกงว่า พระผู้เป็นเจ้าสบายดีหรือ
สักการสัมมานะยังเป็นไปแก่พระผู้เป็นเจ้าหรือ
[17] ชฎิลชั่วนั้นกราบทูลพระราชา
โดยประการที่กุมารนั้นจะพึงถูกทำให้พินาศเสีย
พระเจ้าแผ่นดินทรงสดับคำของชฎิลโกงนั้น แล้วทรงบังคับว่า
[18] จงตัดศีรษะเสียในที่นั้นนั่นแหละ
จงบั่นออกเป็น 4 ท่อน ประจานไว้ที่ถนน
นั่นเป็นตัวอย่างที่เบียดเบียนชฎิล
[19] พวกโจรฆาต(ผู้ฆ่าโจร)ผู้มีใจดุร้ายหยาบคาย
ไม่มีความกรุณาเหล่านั้น ผู้ได้รับพระราชโองการไปที่นั้น
เมื่อเรานั่งอยู่บนพระเพลาของพระมารดา ก็ฉุดคร่านำเราไป
[20] เราได้กล่าวแก่เขาเหล่านั้น
ซึ่งกำลังผูกมัดอย่างมั่นคงนี้ว่า
ท่านทั้งหลายจงพาเราไปเฝ้าพระราชาโดยเร็ว ราชกิจของเรามีอยู่
[21] เขาเหล่านั้น พาเราไปเฝ้าพระราชาผู้ชั่ว คบแต่คนชั่ว
เราไปเฝ้าพระราชาแล้ว
ทูลให้ทรงเข้าพระทัยและนำมาสู่อำนาจของเรา
[22] พระบิดาขอให้เราอดโทษ ณ ที่นั้น
ได้พระราชทานสมบัติอันยิ่งใหญ่แก่เรา
เรานั้นทำลายความมืดมนแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต
[23] ราชสมบัติจะเป็นที่น่ารังเกียจของเราก็หาไม่
กามโภคะจะเป็นสิ่งที่เราพึงรังเกียจก็หาไม่
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล
โสมนัสสจริยาที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :760 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 3. อโยฆรจริยา
3. อโยฆรจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระอโยฆรราชกุมาร
[24] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสี
เจริญวัยในเรือนเหล็ก จึงมีนามว่าอโยฆระ
[25] พระบิดาตรัสว่า เจ้าได้ชีวิตมาอย่างลำบาก
ถูกเจ้านายเลี้ยงไว้ในที่แคบ ลูกเอ๋ย วันนี้จงปกครองแผ่นดินทั้งสิ้น
[26] เราประนมมือไหว้กษัตริย์พร้อมทั้งชาวแว่นแคว้น
พร้อมทั้งชาวนิคม และบริวารชน แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า
[27] บรรดาสัตว์ในแผ่นดิน ทั้งชั้นต่ำ ทั้งชั้นสูง
และปานกลาง สัตว์ทั้งหมดนั้นไม่มีอารักขา เจริญอยู่
ในเรือนของตนพร้อมด้วยหมู่ญาติของตน
[28] การเลี้ยงดูข้าพระองค์ในที่คับแคบ
นี้เป็นความยอดเยี่ยมในโลก ข้าพระองค์เติบโตอยู่ในเรือนเหล็ก
เหมือนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ที่ไม่มีแสงสว่าง
[29] ข้าพระองค์ประสูติจากครรภ์พระมารดา
อันเต็มด้วยซากศพที่เน่าแล้ว ยังถูกขังไว้ในเรือนเหล็ก
ซึ่งมีทุกข์ร้ายกว่านั้นเสียอีก
[30] ข้าพระองค์ได้รับความทุกข์ร้ายอย่างยิ่งเช่นนั้นแล้ว
ถ้ายังยินดีในราชสมบัติ ก็จะเป็นผู้เลวทรามที่สุด
แห่งคนที่เลวทรามทั้งหลายเสียอีก
[31] ข้าพระองค์เป็นผู้เหนื่อยหน่ายทางกาย
ไม่ต้องการราชสมบัติ
ข้าพระองค์จะแสวงหาธรรมเครื่องดับทุกข์
ที่มัจจุราชย่ำยีข้าพระองค์ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :761 }