เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 2. โสมนัสสจริยา
2. โสมนัสสจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระโสมนัสสกุมาร
[7] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นบุตรสุดที่รัก
พระมารดาและพระบิดารักใคร่ เอ็นดู ปรากฏนามว่าโสมนัส
อยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดมสมบูรณ์
[8] เป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม
มีกัลยาณธรรม มีปฏิภาณ เคารพนบนอบต่อบุคคลผู้เจริญ
มีหิริ และฉลาดในสังคหธรรม
[9] ครั้งนั้น มีดาบสโกงผู้หนึ่ง
เป็นที่โปรดปรานของพระราชาพระองค์นั้น
ดาบสนั้นทำสวนและปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับเลี้ยงชีวิต
[10] เราได้เห็นดาบสโกงนั้น เหมือนกองแกลบที่ไม่มีข้าวสาร
เหมือนไม้เป็นโพรงข้างใน เหมือนต้นกล้วยหาแก่นมิได้
[11] ดาบสโกงผู้นี้ ไม่มีธรรมของสัตบุรุษ
ปราศจากความเป็นสมณะ ละหิริและธรรมฝ่ายขาว
เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงชีวิต
[12] ปัจจันตชนบทกำเริบขึ้น เพราะโจรเที่ยวอยู่ในดง
พระบิดาของเรา เมื่อจะเสด็จไปปราบความกำเริบนั้น ตรัสสั่งเราว่า
[13] พ่ออย่าประมาทในชฎิล ผู้มีตบะแก่กล้านะลูก
พ่อจงอนุวัตรตามความปรารถนา ด้วยว่าชฎิลนั้น
เป็นผู้ให้ความสำเร็จ ความปรารถนาทั้งปวง
[14] เราไปสู่ที่บำรุงชฎิลนั้นแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า
คหบดี ท่านสบายดีหรือ หรือว่าท่านจะให้นำอะไรมา
[15] เหตุนั้น ดาบสโกงนั้นอาศัยมานะจึงโกรธเราว่า
เราจะให้พระราชาประหารท่านเสียในวันนี้
หรือจะให้เนรเทศเสียจากแว่นแคว้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :759 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 2. โสมนัสสจริยา
[16] พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทสงบราบคาบแล้ว
ได้ตรัสถามชฎิลโกงว่า พระผู้เป็นเจ้าสบายดีหรือ
สักการสัมมานะยังเป็นไปแก่พระผู้เป็นเจ้าหรือ
[17] ชฎิลชั่วนั้นกราบทูลพระราชา
โดยประการที่กุมารนั้นจะพึงถูกทำให้พินาศเสีย
พระเจ้าแผ่นดินทรงสดับคำของชฎิลโกงนั้น แล้วทรงบังคับว่า
[18] จงตัดศีรษะเสียในที่นั้นนั่นแหละ
จงบั่นออกเป็น 4 ท่อน ประจานไว้ที่ถนน
นั่นเป็นตัวอย่างที่เบียดเบียนชฎิล
[19] พวกโจรฆาต(ผู้ฆ่าโจร)ผู้มีใจดุร้ายหยาบคาย
ไม่มีความกรุณาเหล่านั้น ผู้ได้รับพระราชโองการไปที่นั้น
เมื่อเรานั่งอยู่บนพระเพลาของพระมารดา ก็ฉุดคร่านำเราไป
[20] เราได้กล่าวแก่เขาเหล่านั้น
ซึ่งกำลังผูกมัดอย่างมั่นคงนี้ว่า
ท่านทั้งหลายจงพาเราไปเฝ้าพระราชาโดยเร็ว ราชกิจของเรามีอยู่
[21] เขาเหล่านั้น พาเราไปเฝ้าพระราชาผู้ชั่ว คบแต่คนชั่ว
เราไปเฝ้าพระราชาแล้ว
ทูลให้ทรงเข้าพระทัยและนำมาสู่อำนาจของเรา
[22] พระบิดาขอให้เราอดโทษ ณ ที่นั้น
ได้พระราชทานสมบัติอันยิ่งใหญ่แก่เรา
เรานั้นทำลายความมืดมนแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต
[23] ราชสมบัติจะเป็นที่น่ารังเกียจของเราก็หาไม่
กามโภคะจะเป็นสิ่งที่เราพึงรังเกียจก็หาไม่
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล
โสมนัสสจริยาที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :760 }