เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 1. ยุธัญชยจริยา
3. ยุธัญชยวรรค
หมวดว่าด้วยกุมารนามว่ายุธัญชัยเป็นต้น
3. การบำเพ็ญบารมีมีเนกขัมมะเป็นต้น
1. ยุธัญชยจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระยุธัญชัยกุมาร
[1] ในกาลที่เราเป็นพระราชโอรส
นามว่ายุธัญชัย มีบริวารยศหาประมาณมิได้
สลดใจเพราะได้เห็นหยาดน้ำค้างที่เหือดแห้งไปเพราะแสงดวงอาทิตย์
[2] เราทำความเป็นอนิจจัง(ความไม่เที่ยง)นั้นแล
ให้เป็นสิ่งที่สำคัญ พอกพูนความสังเวช
ไหว้พระมารดาและพระบิดาแล้วทูลขอบรรพชา
[3] พระมารดาและพระบิดาพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งชาวแว่นแคว้น
ประนมมืออ้อนวอนเราว่า
วันนี้ เจ้าจงปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเถิดลูก
[4] เมื่อมหาชนพร้อมทั้งพระบิดา นางสนม ชาวนิคม
และชาวแว่นแคว้น ร้องไห้ร่ำไรน่าเวทนายิ่งนัก
เราไม่ห่วงใย สละไปแล้ว
[5] เราสละราชสมบัติในแผ่นดิน หมู่ญาติ บริวารชน
และยศศักดิ์ทั้งสิ้น ไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[6] พระมารดาและพระบิดาจะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่
ยศอันยิ่งใหญ่ จะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล
ยุธัญชยจริยาที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :758 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [3. ยุธัญชยวรรค] 2. โสมนัสสจริยา
2. โสมนัสสจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระโสมนัสสกุมาร
[7] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นบุตรสุดที่รัก
พระมารดาและพระบิดารักใคร่ เอ็นดู ปรากฏนามว่าโสมนัส
อยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดมสมบูรณ์
[8] เป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม
มีกัลยาณธรรม มีปฏิภาณ เคารพนบนอบต่อบุคคลผู้เจริญ
มีหิริ และฉลาดในสังคหธรรม
[9] ครั้งนั้น มีดาบสโกงผู้หนึ่ง
เป็นที่โปรดปรานของพระราชาพระองค์นั้น
ดาบสนั้นทำสวนและปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับเลี้ยงชีวิต
[10] เราได้เห็นดาบสโกงนั้น เหมือนกองแกลบที่ไม่มีข้าวสาร
เหมือนไม้เป็นโพรงข้างใน เหมือนต้นกล้วยหาแก่นมิได้
[11] ดาบสโกงผู้นี้ ไม่มีธรรมของสัตบุรุษ
ปราศจากความเป็นสมณะ ละหิริและธรรมฝ่ายขาว
เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงชีวิต
[12] ปัจจันตชนบทกำเริบขึ้น เพราะโจรเที่ยวอยู่ในดง
พระบิดาของเรา เมื่อจะเสด็จไปปราบความกำเริบนั้น ตรัสสั่งเราว่า
[13] พ่ออย่าประมาทในชฎิล ผู้มีตบะแก่กล้านะลูก
พ่อจงอนุวัตรตามความปรารถนา ด้วยว่าชฎิลนั้น
เป็นผู้ให้ความสำเร็จ ความปรารถนาทั้งปวง
[14] เราไปสู่ที่บำรุงชฎิลนั้นแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า
คหบดี ท่านสบายดีหรือ หรือว่าท่านจะให้นำอะไรมา
[15] เหตุนั้น ดาบสโกงนั้นอาศัยมานะจึงโกรธเราว่า
เราจะให้พระราชาประหารท่านเสียในวันนี้
หรือจะให้เนรเทศเสียจากแว่นแคว้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :759 }