เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 6. รุรุราชจริยา
6. รุรุราชจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญาเนื้อชื่อรุรุ
[48] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญาเนื้อชื่อรุรุ
มีขนสีเหลืองคล้ายทองคำที่หลอมดีแล้ว
ประกอบด้วยศีลอันบริสุทธิ์ยิ่ง
[49] เราเข้าไปอาศัยอยู่ ณ ประเทศที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นรมณียสถาน สงัดเงียบปราศจากมนุษย์
เป็นที่ยินดีแห่งใจใกล้ฝั่งแม่น้ำ
[50] ครั้งนั้น บุรุษถูกเจ้าหนี้เบียดเบียน
จึงโดดลงในแม่น้ำ ในกระแสน้ำข้างเหนือ
ด้วยคิดว่า เราจะเป็นหรือตายก็ตามเถอะ
[51] เขาถูกกระแสน้ำพัดไปในแม่น้ำใหญ่
ตลอดคืนตลอดวัน ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา
ลอยไปท่ามกลางแม่น้ำคงคา
[52] เราได้ยินเสียงของเขาผู้ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาแล้ว
ไปยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำถามว่า ท่านเป็นคนเช่นไร
[53] เขาถูกเราถามแล้ว ได้แจ้งเหตุของตนในกาลนั้นว่า
ข้าพเจ้ากลัว สะดุ้งต่อพวกเจ้าหนี้แล้ว จึงโดดลงยังมหานที
[54] เราทำความกรุณาแก่เขา
สละชีวิตของตนว่ายน้ำไปนำเขามาในเวลากลางคืนข้างแรม
[55] เรารู้กาลที่เขาสบายใจแล้ว
ได้กล่าวแก่เขาดังนี้ว่า ข้าพเจ้าจะขอพรกะท่านสักข้อหนึ่ง
คือท่านอย่าบอกใครว่า ข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่นี้
[56] เขาไปยังนครแล้ว พระราชาตรัสถาม
มีความต้องการทรัพย์จึงกราบทูล
เขาได้พาพระราชามายังที่อยู่ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :752 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 7. มาตังคจริยา
[57] เรากราบทูลเหตุการณ์ทุกอย่างแก่พระราชา
พระราชาทรงสดับคำของเราแล้ว
ทรงสอดศรจะยิงบุรุษนั้น ตรัสว่า
“เราจักฆ่าอนารยชน ผู้ประทุษร้ายมิตรเสียในที่นี้แหละ”
[58] เราตามรักษาคนผู้ประทุษร้ายมิตรนั้น
ได้มอบตัวของเราถวายว่า
ข้าแต่มหาราช ขอได้ทรงโปรดก่อนเถิด
พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะทำตามพระราชประสงค์ของพระองค์
[59] เราตามรักษาศีลของเรา ไม่ใช่ตามรักษาชีวิตของเรา
เพราะในกาลนั้น เราเป็นผู้รักษาศีล
เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
รุรุราชจริยาที่ 6 จบ

7. มาตังคจริยา
ว่าด้วยจริยาของชฎิลชื่อมาตังคะ
[60] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นชฎิลมีนามว่ามาตังคะ ตามโคตร
มีความเพียรทำลายกิเลสที่แรงกล้า มีศีล มีจิตมั่นคงดี
[61] เราทั้ง 2 คือ เราและพราหมณ์คนหนึ่ง
อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เราอยู่ข้างเหนือ พราหมณ์อยู่ข้างใต้
[62] พราหมณ์เที่ยวไปตามริมฝั่งน้ำ เห็นอาศรมของเราข้างเหนือน้ำ
บริภาษเราในที่นั้น แล้วแช่งให้เราศีรษะแตก
[63] ถ้าเราพึงโกรธต่อพราหมณ์นั้น ถ้าเราไม่คุ้มครองศีล
เราแลดูพราหมณ์นั้นแล้ว พึงทำให้เป็นดังขี้เถ้าได้
[64] ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นโกรธ มีจิตคิดประทุษร้าย
จึงแช่งเรา คำแช่งนั้นจะตกลงบนศีรษะของเขาเอง
เราได้ช่วยเปลื้องเขาให้พ้นโดยความพยายาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :753 }