เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 4. จูฬโพธิจริยา
[25] กายของเรานี้จงแตกไป จงกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่นี้
เหมือนแกลบกระจัดกระจายอยู่ก็ตามเถิด
เราไม่ควรทำลายศีล ฉะนี้แล
จัมเปยยจริยาที่ 3 จบ

4. จูฬโพธิจริยา
ว่าด้วยจริยาของจูฬโพธิปริพาชก
[26] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นปริพาชกชื่อว่าจูฬโพธิ
มีศีลงาม เราเห็นภพโดยความเป็นของน่ากลัว จึงออกบวช
[27] นางพราหมณี ผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
ซึ่งเป็นภรรยาเก่าของเรา แม้นางมิได้อาลัยในวัฏฏะ ออกบวชแล้ว
[28] เราทั้ง 2 ไม่มีความอาลัย ตัดขาดพวกพ้อง
ไม่ห่วงใยในตระกูลและหมู่ญาติ
เที่ยวไปยังบ้านและนิคม มาถึงกรุงพาราณสี
[29] เราทั้ง 2 อยู่ ณ ที่นั้น มีปัญญารักษาตน
ไม่คลุกคลีกับสกุลกับคณะ
เราทั้ง 2 อยู่ในพระราชอุทยานอันสงัดเงียบ ไม่พลุกพล่าน
[30] พระราชาเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน
ได้ทอดพระเนตรเห็นนางพราหมณี
จึงเสด็จเข้ามาหาเราแล้วตรัสถามว่า
“นางพราหมณีคนนี้เป็นอะไรกับท่าน เป็นภริยาของใคร”
[31] เมื่อพระราชาตรัสถามอย่างนี้ เราได้ทูลพระองค์ดังนี้ว่า
“นางพราหมณีนี้มิใช่ภริยาของอาตมภาพ
แต่เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน มีศาสนาเดียวกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :749 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 5. มหิสราชจริยา
[32] พระราชาทรงกำหนัดหนักในนางพราหมณีนั้น
จึงรับสั่งให้พวกราชบุรุษจับ ทรงบีบคั้นด้วยกำลัง
สั่งให้นำเข้าไปภายในนคร
[33] เมื่อภรรยาเก่าของเราซึ่งเกิดร่วมกัน
มีศาสนาเดียวกัน ถูกฉุดคร่าไป ความโกรธเกิดขึ้นแก่เรา
[34] เราระลึกถึงศีลวัตรได้พร้อมกับความโกรธที่เกิดขึ้น
เราข่มความโกรธได้ ณ ที่นั้นเอง ไม่ให้มันเจริญขึ้นไปอีก
[35] ถ้าใคร ๆ พึงเอาหอกอันคมกริบแทงนางพราหมณีนั้น
เราก็ไม่พึงทำลายศีลของเราเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[36] นางพราหมณีนั้นจะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่
และเราจะไม่มีกำลังก็หามิได้
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงตามรักษาศีลไว้ ฉะนี้แล
จูฬโพธิจริยาที่ 4 จบ

5. มหิสราชจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญากระบือ
[37] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นกระบือ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่
มีกายอ้วนพี มีกำลังมาก ใหญ่โต ดูน่ากลัว
[38] พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งในป่านี้ อันเป็นที่อยู่ของฝูงกระบือ
มีอยู่ที่เงื้อมภูเขาก็ดี ที่ซอกภูเขาก็ดี ที่โคนต้นไม้ก็ดี ที่ใกล้บึงก็ดี
[39] เราเที่ยวไปในที่นั้น ๆ เมื่อเราเที่ยวไปในป่าใหญ่
ได้เห็นสถานที่อันเจริญ เราจึงเข้าไปยังที่นั้น
แล้วยืนพักอยู่และนอนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :750 }