เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 3. จัมเปยยจริยา
[17] การที่เราสละชีวิตของตนเป็นของเบาแม้กว่าหญ้า
การล่วงศีลของเราเป็นเหมือนดังว่าพลิกแผ่นดินขึ้น
[18] เราพึงสละชีวิตของเราสิ้น 100 ชาติเนือง ๆ
เราไม่พึงทำลายศีลแม้เพราะเหตุแห่งทวีปทั้ง 4
[19] อีกอย่างหนึ่ง แม้เขาจะใส่เราไว้ในตะกร้า
เราก็ไม่ทำความเสียใจ
เพราะรักษาศีล เพื่อบำเพ็ญศีลบารมีให้เต็ม ฉะนี้แล
ภูริทัตตจริยาที่ 2 จบ

3. จัมเปยยจริยา
ว่าด้วยจริยาของจัมเปยยกนาคราช
[20] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญานาค
ชื่อว่าจัมเปยยกะ มีฤทธิ์มาก
แม้ในกาลนั้น เราเป็นผู้ประพฤติธรรม เพียบพร้อมด้วยศีลวัตร
[21] หมองูได้จับเราผู้ประพฤติธรรม รักษาอุโบสถ
แล้วให้เล่นรำอยู่ใกล้ประตูพระราชวัง
[22] หมองูนั้นคิดสีใด คือ สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง
เราย่อมเปลี่ยนไปตามความคิดของเขา
แปลงกายให้เหมือนที่เขาคิด
[23] เราได้เนรมิตบก(คือแผ่นดิน)ให้เป็นน้ำบ้าง
เนรมิตน้ำให้เป็นบกบ้าง ถ้าเราโกรธเคืองต่อหมองูนั้น
ก็พึงทำเขาให้กลายเป็นเถ้าไปในพริบตา
[24] ถ้าเราจักเป็นไปตามอำนาจจิต เราก็จักเสื่อมจากศีล
เมื่อเราเสื่อมจากศีล ประโยชน์สูงสุดก็จะไม่สำเร็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :748 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 4. จูฬโพธิจริยา
[25] กายของเรานี้จงแตกไป จงกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่นี้
เหมือนแกลบกระจัดกระจายอยู่ก็ตามเถิด
เราไม่ควรทำลายศีล ฉะนี้แล
จัมเปยยจริยาที่ 3 จบ

4. จูฬโพธิจริยา
ว่าด้วยจริยาของจูฬโพธิปริพาชก
[26] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นปริพาชกชื่อว่าจูฬโพธิ
มีศีลงาม เราเห็นภพโดยความเป็นของน่ากลัว จึงออกบวช
[27] นางพราหมณี ผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
ซึ่งเป็นภรรยาเก่าของเรา แม้นางมิได้อาลัยในวัฏฏะ ออกบวชแล้ว
[28] เราทั้ง 2 ไม่มีความอาลัย ตัดขาดพวกพ้อง
ไม่ห่วงใยในตระกูลและหมู่ญาติ
เที่ยวไปยังบ้านและนิคม มาถึงกรุงพาราณสี
[29] เราทั้ง 2 อยู่ ณ ที่นั้น มีปัญญารักษาตน
ไม่คลุกคลีกับสกุลกับคณะ
เราทั้ง 2 อยู่ในพระราชอุทยานอันสงัดเงียบ ไม่พลุกพล่าน
[30] พระราชาเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน
ได้ทอดพระเนตรเห็นนางพราหมณี
จึงเสด็จเข้ามาหาเราแล้วตรัสถามว่า
“นางพราหมณีคนนี้เป็นอะไรกับท่าน เป็นภริยาของใคร”
[31] เมื่อพระราชาตรัสถามอย่างนี้ เราได้ทูลพระองค์ดังนี้ว่า
“นางพราหมณีนี้มิใช่ภริยาของอาตมภาพ
แต่เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน มีศาสนาเดียวกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :749 }