เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 2. ภูริทัตตจริยา
[9] อีกอย่างหนึ่ง แม้เขาจะผูกข้าพเจ้าไว้ที่เสาตะลุง
เราก็ไม่ทำความเสียใจ เพราะรักษาศีล
เพื่อบำเพ็ญศีลบารมีให้บริบูรณ์
[10] ถ้าเขาเหล่านั้นพึงทำลายเราที่เสาตะลุงนี้ด้วยขวานและหอกซัด
เราก็จะไม่โกรธเขาเหล่านั้นเลย
เพราะเรากลัวศีลขาด ฉะนี้แล
มาตุโปสกจริยาที่ 1 จบ

2. ภูริทัตตจริยา
ว่าด้วยจริยาของภูริทัตตนาคราช
[11] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญานาคชื่อว่าภูริทัตตะ
มีฤทธิ์มาก ได้ไปยังเทวโลกพร้อมกับท้าววิรูปักษ์มหาราช
[12] ในเทวโลกนั้น เราได้เห็นทวยเทพ
ผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขโดยส่วนเดียว
จึงสมาทานศีลวัตร เพื่อต้องการจะไปยังสวรรค์นั้น
[13] เราชำระร่างกาย บริโภคอาหารพอเป็นเครื่องเลี้ยงชีพแล้ว
นอนบนยอดจอมปลวก อธิษฐานองค์ 4 ประการว่า
[14] ‘ผู้ใดพึงทำกิจด้วยผิวก็ดี หนังก็ดี เนื้อก็ดี เอ็นก็ดี
กระดูกก็ดี ผู้นั้นจงนำอวัยวะที่เราให้นี้ไปเถิด’
[15] พราหมณ์อาลัมพานะผู้ที่คนอกตัญญูบอกแล้ว
ได้จับเราใส่ไว้ในตะกร้า ให้เล่นในที่นั้น ๆ
[16] แม้เมื่อพราหมณ์อาลัมพานะใส่เราไว้ในตะกร้าบ้าง
บีบเราด้วยฝ่ามือบ้าง เราก็ไม่โกรธพราหมณ์อาลัมพานะนั้น
เพราะเรากลัวศีลขาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :747 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 3. จัมเปยยจริยา
[17] การที่เราสละชีวิตของตนเป็นของเบาแม้กว่าหญ้า
การล่วงศีลของเราเป็นเหมือนดังว่าพลิกแผ่นดินขึ้น
[18] เราพึงสละชีวิตของเราสิ้น 100 ชาติเนือง ๆ
เราไม่พึงทำลายศีลแม้เพราะเหตุแห่งทวีปทั้ง 4
[19] อีกอย่างหนึ่ง แม้เขาจะใส่เราไว้ในตะกร้า
เราก็ไม่ทำความเสียใจ
เพราะรักษาศีล เพื่อบำเพ็ญศีลบารมีให้เต็ม ฉะนี้แล
ภูริทัตตจริยาที่ 2 จบ

3. จัมเปยยจริยา
ว่าด้วยจริยาของจัมเปยยกนาคราช
[20] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญานาค
ชื่อว่าจัมเปยยกะ มีฤทธิ์มาก
แม้ในกาลนั้น เราเป็นผู้ประพฤติธรรม เพียบพร้อมด้วยศีลวัตร
[21] หมองูได้จับเราผู้ประพฤติธรรม รักษาอุโบสถ
แล้วให้เล่นรำอยู่ใกล้ประตูพระราชวัง
[22] หมองูนั้นคิดสีใด คือ สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง
เราย่อมเปลี่ยนไปตามความคิดของเขา
แปลงกายให้เหมือนที่เขาคิด
[23] เราได้เนรมิตบก(คือแผ่นดิน)ให้เป็นน้ำบ้าง
เนรมิตน้ำให้เป็นบกบ้าง ถ้าเราโกรธเคืองต่อหมองูนั้น
ก็พึงทำเขาให้กลายเป็นเถ้าไปในพริบตา
[24] ถ้าเราจักเป็นไปตามอำนาจจิต เราก็จักเสื่อมจากศีล
เมื่อเราเสื่อมจากศีล ประโยชน์สูงสุดก็จะไม่สำเร็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :748 }