เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] รวมจริยาที่มีในวรรคนี้
[141] น้ำเย็นอันผู้ใดผู้หนึ่งดำลงแล้ว
ย่อมระงับความกระวนกระวายและความร้อน
ย่อมให้ความยินดี และปีติได้ ฉันใด
[142] ในขณะที่เราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เหมือนดำลงไปในน้ำเย็น
ความกระวนกระวายทั้งปวงระงับไป
[143] เราได้ให้ร่างกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ
คือผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
และชิ้นเนื้อหัวใจแก่พราหมณ์ ฉะนี้แล
สสปัณฑิตจริยาที่ 10 จบ
อกิตติวรรคที่ 1 จบ

รวมจริยาที่มีในวรรคนี้คือ
อกิตติดาบส สังขพราหมณ์ พระเจ้าธนัญชัยกุรุราช
พระเจ้ามหาสุทัศนจักรพรรดิราช
มหาโควินทพราหมณ์
พระเจ้าเนมิราช จันทกุมาร พระเจ้าสิวิราช
พระเวสสันดร และสสบัณฑิต
ผู้ให้ทานอันประเสริฐในกาลนั้น เป็นเรานี้เอง
การบริจาคเหล่านี้เป็นบริขารแห่งทาน เป็นทานบารมี
เราได้ให้ชีวิตเป็นทานแก่ยาจก จึงบำเพ็ญบารมีนี้ได้
เราเห็นยาจกเข้ามาเพื่อขอแล้ว ได้สละร่างกายของตนให้
ความเสมอด้วยทานของเราไม่มี
นี้เป็นทานบารมีของเรา ฉะนี้แล
การบำเพ็ญทานบารมี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :745 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [2. หัตถินาควรรค] 1. มาตุโปสกจริยา
2. หัตถินาควรรค
หมวดว่าด้วยพญาช้างเป็นต้น
2. การบำเพ็ญศีลบารมี
1. มาตุโปสกจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญาช้างตัวเลี้ยงมารดา
[1] ในกาลที่เราเป็นช้างกุญชรเลี้ยงมารดาอยู่ในป่าใหญ่
ครั้งนั้น ในแผ่นดินนี้ไม่มีอะไรที่จะเสมอด้วยคุณ(ศีล)ของเรา
[2] พรานป่าพบเราในป่าใหญ่แล้ว ได้กราบทูลแด่พระราชาว่า
‘ข้าแต่มหาราช ช้างมงคลซึ่งสมควรแก่พระองค์อยู่ในป่าใหญ่
[3] อันการจับช้างนั้นไม่ต้องขุดคู
แม้การปักเสาตะลุง(เสาสำหรับผูกช้าง)
และการขุดหลุมพรางก็ไม่ต้อง
ในขณะที่จับที่งวงเท่านั้น ช้างนั้นก็จะมา ณ ที่นี้เอง พระเจ้าข้า’
[4] ฝ่ายพระราชาได้สดับคำของพรานป่านั้นแล้ว
ก็ทรงดีพระทัย ทรงส่งควาญช้างซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ฉลาดศึกษาดีแล้วไป
[5] ควาญช้างนั้นไปแล้ว ได้พบช้างกำลังถอนเหง้าบัวอยู่
ในสระบัวหลวง เพื่อเลี้ยงมารดา
[6] ควาญช้างรู้คุณคือศีลของเรา พิจารณาดูลักษณะแล้วกล่าวว่า
มานี่แนะลูก แล้วได้จับที่งวงของเรา
[7] ครั้งนั้น กำลังของเราที่มีอยู่ในกายตามปกติอันใด
วันนี้ กำลังของเรานั้นเสมอเหมือนด้วยกำลังของช้างหลายพันเชือก
[8] ถ้าเราโกรธควาญช้างเหล่านั้น ผู้เข้ามาใกล้เพื่อจับเรา
เราก็สามารถเหยียบเขาเหล่านั้น(ให้แหลกละเอียด)ได้
แม้จนถึงราชสมบัติของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :746 }