เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 10. สสปัณฑิตจริยา
[131] เรานอนคิดถึงทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคลว่า
‘ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคล เราจักให้อะไรเป็นทาน
[132] งา ถั่วเขียว ของเราก็ไม่มี ถั่วราชมาส
ข้าวสาร เปรียงของเราก็ไม่มี
เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราไม่อาจที่จะให้หญ้า
[133] ถ้าทักขิไณยบุคคลสักท่านหนึ่งมาเพื่อขอในสำนักของเรา
เราพึงให้ร่างกายของตน ทักขิไณยบุคคลจักไม่ไปเปล่า’
[134] ท้าวสักกะทรงทราบความดำริของเราแล้ว
จึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เข้ามายังที่อยู่ของเรา
เพื่อทรงทดลองทานของเรา
[135] เราเห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็ยินดี ได้กล่าวคำนี้ว่า
‘ท่านมาถึงที่อยู่ของเราแล้ว เพราะเหตุแห่งอาหารเป็นการดีแล
[136] วันนี้เราจักให้ทานอันประเสริฐที่ใคร ๆ
ไม่เคยให้แก่ท่าน ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ
การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรแก่ท่าน
[137] ท่านจงไปนำไม้ต่าง ๆ มาก่อไฟให้ลุกโพลงขึ้น
เราจักปิ้งตัวของเรา ท่านจักได้กินเนื้อที่สุก’
[138] พราหมณ์รับคำว่า “สาธุ” แล้วมีใจร่าเริง
ได้นำไม้ต่างๆ มาทำเป็นเชิงตะกอนใหญ่
ทำเป็นห้องซึ่งเต็มด้วยถ่านเพลิง
[139] ก่อไฟลุกโพลงขึ้น ณ ที่นั้นทันที
เหมือนไฟนั้นเป็นกองใหญ่
เพราะฉะนั้น เราสลัดตัวอันมีธุลีแล้ว เข้าไปนั่งอยู่ข้างหนึ่ง
[140] ในเมื่อกองไม้ที่ไฟติดทั่วแล้วเป็นควันตลบอยู่
ขณะนั้น เราโดดลงไปในท่ามกลางระหว่างเปลวไฟ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :744 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] รวมจริยาที่มีในวรรคนี้
[141] น้ำเย็นอันผู้ใดผู้หนึ่งดำลงแล้ว
ย่อมระงับความกระวนกระวายและความร้อน
ย่อมให้ความยินดี และปีติได้ ฉันใด
[142] ในขณะที่เราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เหมือนดำลงไปในน้ำเย็น
ความกระวนกระวายทั้งปวงระงับไป
[143] เราได้ให้ร่างกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ
คือผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
และชิ้นเนื้อหัวใจแก่พราหมณ์ ฉะนี้แล
สสปัณฑิตจริยาที่ 10 จบ
อกิตติวรรคที่ 1 จบ

รวมจริยาที่มีในวรรคนี้คือ
อกิตติดาบส สังขพราหมณ์ พระเจ้าธนัญชัยกุรุราช
พระเจ้ามหาสุทัศนจักรพรรดิราช
มหาโควินทพราหมณ์
พระเจ้าเนมิราช จันทกุมาร พระเจ้าสิวิราช
พระเวสสันดร และสสบัณฑิต
ผู้ให้ทานอันประเสริฐในกาลนั้น เป็นเรานี้เอง
การบริจาคเหล่านี้เป็นบริขารแห่งทาน เป็นทานบารมี
เราได้ให้ชีวิตเป็นทานแก่ยาจก จึงบำเพ็ญบารมีนี้ได้
เราเห็นยาจกเข้ามาเพื่อขอแล้ว ได้สละร่างกายของตนให้
ความเสมอด้วยทานของเราไม่มี
นี้เป็นทานบารมีของเรา ฉะนี้แล
การบำเพ็ญทานบารมี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :745 }