เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 9. เวสสันตรจริยา
[86] เราได้จับงวงพญาคชสารวางบนมือพราหมณ์แล้ว
จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือ ได้ให้พญาคชสารแก่พวกพราหมณ์
[87] อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราให้พญาคชสารที่อุดมเผือกผ่อง
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช
และราวป่าก็ไหวอีก
[88] เพราะเราให้พญาคชสารนั้น ชาวกรุงสีพีจึงพากันโกรธเคือง
มาประชุมกันแล้ว ขับไล่เราจากแว่นแคว้นของตนว่า
จงไปยังภูเขาวงกต
[89] เมื่อชาวนครเหล่านั้นกลับไป จิตของเราตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เราได้ขอพรอย่างหนึ่งเพื่อจะบำเพ็ญมหาทาน
[90] เราขอแล้ว ชาวกรุงสีพีทั้งหมดได้ให้พรอย่างหนึ่งแก่เรา
เราจึงให้นำกลองคู่หนึ่งไปตีประกาศว่า เราจะบริจาคมหาทาน
[91] เสียงดังกึกก้องอึงมี่น่าหวาดกลัวย่อมเป็นไปในโรงทานนั้นว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนี้เพราะทาน
เรายังจะให้ทานอีกหรือ
[92] เราได้ให้ช้าง ม้า รถ ทาสี ทาสา แม่โค ทรัพย์
ครั้นให้มหาทานแล้ว ก็ออกจากนครไปในกาลนั้น
[93] เมื่อเราครั้นออกจากนครแล้ว เหลียวกลับมาดู
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช
และราวป่าก็ไหวแล้ว
[94] เราให้ม้าสินธพ 4 ตัวและรถแล้วยืนอยู่ที่ทางใหญ่ 4 แยก
ผู้เดียวไม่มีเพื่อน ได้กล่าวกับพระนางมัทรีเทวีดังนี้ว่า
[95] “แม่มัทรี เธอจงอุ้มกัณหากุมารีเถิด
เพราะเธอเป็นน้องคงเบากว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี
เพราะเขาเป็นพี่คงจะหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :739 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 9. เวสสันตรจริยา
[96] พระนางมัทรีทรงอุ้มแม่กัณหาผู้อ่อนนุ่มดังดอกปทุมและบัวขาว
เราได้อุ้มพ่อชาลีหน่อกษัตริย์ เปรียบดังแท่งทองคำ
[97] ชนทั้ง 4 เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ผู้อภิชาตบุตร
ได้เสด็จดำเนินไปตามทางที่ขรุขระและราบเรียบไปยังภูเขาวงกต
[98] มนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เดินตามมาในหนทางก็ดี
สวนทางก็ดี เราทั้งหลายได้ไต่ถามเขาถึงหนทางว่า
เขาวงกตอยู่ที่ไหน
[99] เขาเห็นเราทั้งหลาย ณ ที่นั้นแล้ว
ได้เปล่งเสียงอันประกอบด้วยกรุณา
กษัตริย์เหล่านี้คงจะต้องเสวยทุกข์อย่างยิ่ง เพราะภูเขาวงกตไกล
[100] ถ้าพระกุมารและกุมารีเห็นต้นไม้ที่มีผลในป่าใหญ่
พระกุมารกุมารีก็จะทรงกันแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น
[101] ต้นไม้ทั้งหลายอันสูงใหญ่ไพศาล
เห็นพระกุมารและกุมารีทรงกันแสง
ก็จะโน้มยอดลงมาหาพระกุมารและกุมารีเอง
[102] พระนางมัทรีผู้ทรงความงามทั่วสรรพางค์กาย
ทรงเห็นความอัศจรรย์นี้ซึ่งไม่เคยมีมา
น่าขนพองสยองเกล้า จึงให้สาธุการเป็นไปว่า
[103] ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในโลก บังเกิดขนชูชันหนอ
หมู่ไม้น้อมยอดลงมาเองด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร
[104] ยักษ์(เทวดา)ทั้งหลายได้ย่นทางให้
ด้วยความเอ็นดูพระกุมารและกุมารี
ในวันที่เสด็จออกจากกรุงสีพีนั้นเอง
เราทั้ง 4 ได้ไปถึงเจตราษฎร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :740 }