เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 3. กุรุธรรมจริยา
[21] ครั้งนั้น พวกพราหมณ์ชาวแคว้นกาลิงคะได้มาหาเรา
ขอพญาคชสาร ซึ่งประกอบด้วยธัญญลักษณะ
สมบูรณ์ด้วยมงคลกับเราว่า
[22] ชนบทฝนไม่ตกเลย เกิดทุพภิกขภัย อดอยากมาก
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพญาคชสาร
ตัวประเสริฐมีกายสีเขียวชื่อว่าอัญชันด้วยเถิด
[23] เราคิดว่าการห้ามยาจกที่มาถึงแล้ว
เป็นการไม่สมควรแก่เราเลย
กุศลสมาทานของเราอย่าได้เสียหายเลย
เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ
[24] เราได้จับงวงพญาคชสารวางลงบนมือพราหมณ์แล้ว
จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือของพวกพราหมณ์ ได้ให้พญาคชสารไป
[25] เมื่อเราได้ให้พญาคชสารนั้นไป พวกอำมาตย์ได้กล่าวคำนี้ว่า
“เหตุไรหนอ พระองค์จึงพระราชทานพญาคชสารตัวประเสริฐ
ของพระองค์แก่พวกยาจก
[26] เมื่อพระองค์พระราชทานพญาคชสาร
ซึ่งประกอบด้วยธัญลักษณะ
สมบูรณ์ด้วยมงคล ชนะสงคราม
อันสูงสุดนั้นแล้ว พระองค์เป็นพระราชาจักทำอะไรได้”
[27] เราได้ตอบว่า แม้ราชสมบัติทั้งหมดเราก็ควรให้
ถึงสรีระของตนเราก็ควรให้
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้พญาคชสาร ฉะนี้แล
กุรุธรรมจริยาที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :730 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 4. มหาสุทัสสนจริยา
4. มหาสุทัสสนจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
[28] ในกาลที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่ามหาสุทัสสนะ
มีพลานุภาพมาก ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในกรุงกุสาวดี
[29] ครั้งนั้น เราได้สั่งให้ประกาศทุก ๆ วัน
วันละ 3 ครั้งว่า “ใครอยากได้อะไร
ปรารถนาอะไร ใครจะให้ทรัพย์อะไร
[30] ใครหิว ใครกระหาย ใครต้องการดอกไม้
ใครต้องการเครื่องลูบไล้
ใครเปลือย จักนุ่งห่มผ้าสีต่าง ๆ
[31] ใครต้องการร่มสำหรับไปในหนทาง ก็จงมารับเอาไป
ใครต้องการรองเท้าที่อ่อนนุ่มสวยงาม ก็จงมารับเอาไป
เราให้ประกาศดังนี้ ทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็นทุก ๆ วัน
[32] ทานนั้นเราไม่ตกแต่งไว้ในที่ 10 แห่ง
หรือในที่ 100 แห่ง แต่เราตกแต่งทรัพย์ไว้
สำหรับยาจกในที่หลายร้อยแห่ง
[33] วณิพกจะมาในเวลากลางวันหรือจะมาในเวลากลางคืนก็ตาม
ก็จะได้โภคะตามความปรารถนาพอเต็มมือกลับไปเสมอ
[34] เราได้ให้มหาทานเห็นปานนี้จนตลอดชีวิต
เราจะให้ทรัพย์ที่น่ารังเกียจก็หาไม่
และเราจะไม่มีการสั่งสมก็หาไม่
[35] เหมือนคนไข้กระสับกระส่าย เพื่อจะพ้นจากโรค
ต้องให้หมอพอใจด้วยทรัพย์จึงจะพ้นจากโรคได้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :731 }