เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 2. สังขพราหมณจริยา
[5] เราได้เห็นอินทพราหมณ์มายืนอยู่ใกล้ประตูบรรณศาลาของเรา
จึงหยิบใบหมากเม่าที่เรานำมาจากป่า
ซึ่งไม่มีน้ำมันทั้งไม่มีรสเค็ม มอบให้จนหมดพร้อมทั้งภาชนะ
[6] เราครั้นให้ใบหมากเม่าแก่อินทพราหมณ์นั้นแล้ว
จึงคว่ำภาชนะ ละการแสวงหาใหม่ เข้าไปยังบรรณศาลา
[7] แม้ในวันที่ 2 ที่ 3 อินทพราหมณ์ก็เข้ามายังสำนักของเรา
เราไม่หวั่นไหว ไม่ยึดมั่น ได้ให้ไปเหมือนอย่างนั้น
[8] ในสรีระของเรามีผิวพรรณไม่เปลี่ยนแปลง
เพราะการอดอาหารนั้นเป็นปัจจัยเลย
เรายับยั้งอยู่ตลอดวันนั้น ๆ ด้วยปีติ สุข และความยินดี
[9] ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคลที่ประเสริฐ
แม้เดือนหนึ่ง สองเดือน เราก็ไม่หวั่นไหว
ไม่ท้อใจ พึงให้ทานอันอุดม
[10] เมื่อเราให้ทานแก่อินทพราหมณ์นั้น
เราจะได้ปรารถนายศและลาภก็หามิได้
แต่เราปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น
จึงได้ประพฤติกรรมเหล่านั้น ฉะนี้แล
อกิตติจริยาที่ 1 จบ

2. สังขพราหมณจริยา
ว่าด้วยจริยาของสังขพราหมณ์
[11] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพราหมณ์นามว่าสังขะ
ต้องการจะข้ามมหาสมุทรจึงเข้าไปยังปัฏฏนคาม
[12] ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เอง
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้เดินสวนทางมาตามทางกันดาร
บนภาคพื้นที่แข็งกระด้างอันร้อนจัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :728 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [1. อกิตติวรรค] 3. กุรุธรรมจริยา
[13] เราครั้นเห็นท่านเดินสวนทางมา จึงคิดถึงประโยชน์นี้ว่า
บุญเขตนี้มาถึงสัตว์ผู้ต้องการบุญ
[14] เปรียบเหมือนบุรุษชาวนาเห็นนาเป็นที่น่ายินดีมาก
(เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ) แต่ไม่ปลูกพืชลงในนานั้น
เขาชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการข้าวเปลือกฉันใด
[15] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เห็นบุญเขตที่ประเสริฐสุดแล้ว
ถ้าไม่ทำสักการะในบุญเขตนั้น
เราก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการบุญ
[16] อำมาตย์ต้องการจะให้ชนชาวเมืองของพระราชายินดี
แต่ไม่ยอมให้ทรัพย์และข้าวเปลือกแก่ชนชาวเมืองเหล่านั้น
เขาก็ย่อมเสื่อมจากความยินดีฉันใด
[17] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เห็นทักขิไณยบุคคลที่ไพบูลย์แล้ว
ถ้าไม่ถวายทานแก่ทักขิไณยบุคคลนั้น ก็จักเสื่อมจากบุญ
[18] เราครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงถอดรองเท้า
กราบเท้าของท่านแล้ว ได้ถวายร่มและรองเท้า
[19] เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้ละเอียดอ่อนเจริญสุขเป็นร้อยเท่า
อนึ่ง เราเมื่อบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์
ได้ถวายแก่ท่านอย่างนี้แล
สังขพราหมณจริยาที่ 2 จบ

3. กุรุธรรมจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าธนัญชัยกุรุราช
[20] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระราชานามว่าธนัญชัย
อยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดม ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ 10 ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :729 }