เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 27. ธาตุภาชนียกถา
และพระสถูปบรรจุพระอังคารเป็นแห่งที่ 10
ประดิษฐานอยู่แล้วในกาลนั้น
[6] พระบรมสารีริกธาตุ 7 อย่าง
คือพระอุณหิส 1 พระทาฐธาตุทั้ง 4
และพระรากขวัญ 2 ข้าง ไม่แตก
พระบรมสารีริกธาตุที่เหลือแตกออกจากกัน
[7] พระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่เท่ากับเมล็ดถั่วเขียว
ขนาดกลางเท่าเมล็ดข้าวสารหัก
ขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีสีต่าง ๆ กัน
[8] พระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่มีสีเหมือนทองคำ
ขนาดกลางมีสีเหมือนแก้วมุกดา
และขนาดเล็กมีสีเหมือนดอกมะลิ
รวมทั้งหมดมีประมาณ 16 ทะนาน
[9] พระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้นทุกขนาด
คือขนาดใหญ่มี 5 ทะนาน ขนาดกลางมี 5 ทะนาน
ขนาดเล็กมี 6 ทะนานเท่านั้น
[10] พระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้แม้ทั้งหมด
ประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ กัน
คือพระอุณหิสอยู่ที่เกาะสีหล
พระรากขวัญเบื้องซ้ายอยู่ที่พรหมโลก
และพระรากขวัญเบื้องขวาอยู่ที่เกาะสีหล
[11] พระทาฐธาตุองค์หนึ่งอยู่ที่ภพดาวดึงส์
องค์หนึ่งอยู่ที่นาคปุระ องค์หนึ่งอยู่ที่เมืองคันธารวิสัย
องค์หนึ่งอยู่ที่เมืองกาลิงคราช
[12] พระทันตธาตุทั้ง 40 พระเกสาและพระโลมาทั้งหมด
เทวดานำมาไว้ จักรวาลละหนึ่งอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :725 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 27. ธาตุภาชนียกถา
[13] บาตร ไม้เท้า และจีวรของพระผู้มีพระภาค
อยู่ที่วชิรานคร สบงอยู่ที่กุลฆรนคร
ผ้าปัจจัตถรณะอยู่ที่สีลนคร(กรุงกบิลพัสดุ์)
[14] ธมกรกและประคดเอวอยู่ที่กรุงปาตลีบุตร
ผ้าอาบน้ำอยู่ที่กรุงจัมปา พระอุณณาโลมอยู่ที่แคว้นโกศล
[15] ผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ที่พรหมโลก ผ้าโพกอยู่ที่ดาวดึงส์
รอยพระบาทอันประเสริฐอยู่ที่หินเหมือนมีอยู่ที่กัจฉตบุรี
ผ้านิสีทนะอยู่ที่อวันตีชนบท ผ้าลาดอยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[16] ไม้สีไฟอยู่ที่กรุงมิถิลา ผ้ากรองน้ำอยู่ที่วิเทหรัฐ
มีดและกล่องเข็มอยู่ที่กรุงอินทปัตถ์ ในกาลนั้น
[17] บริขารที่เหลืออยู่ที่อปรันตชนบท
หมู่มนุษย์ในกาลนั้นจักบูชาบริขารที่พระมุนีทรงใช้สอย
[18] พระบรมสารีริกธาตุของพระโคดม
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ กระจายแผ่กว้างขวางไป
เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย เป็นของเก่าในกาลนั้น ฉะนี้แล
ธาตุภาชนียกถาที่ 27 จบ
พุทธวงศ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :726 }