เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
[20] จากนั้นพระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
[21] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
[22] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
[23] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรีผู้ไม่มีอาสวะ
สิ้นราคะ มีจิตตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
[24] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกาจักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น
จักมีพระชนมายุประมาณ 100 ปี
[25] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’
[26] สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา
ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง
ประนมมือนมัสการว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :714 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
[27] ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้
เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคต
[28] มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว
ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด
[29] เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้
ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’
[30] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการให้ยิ่งขึ้นไป
[31] เราระลึกถึงพุทธพยากรณ์อย่างนี้แล้ว
งดเว้นความประพฤติเสียหาย
ข้าพเจ้าทำกรรมที่ทำได้ยาก
เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[32] กรุงชื่อว่าพาราณสี กษัตริย์พระนามว่ากิกี
ตระกูลใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อยู่ในนครนั้น
[33] พรหมทัตตพราหมณ์นั้นเป็นพุทธบิดา
นางพราหมณีชื่อว่าธนวดีเป็นมารดา
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[34] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 2,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือหังสปราสาท ยสปราสาท และสิริจันทปราสาท
[35] มีนางสนมกำนัล 48,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :715 }