เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
[11] ถึงความสำเร็จในคัมภีร์ทำนายลักษณะและคัมภีร์อิติหาสะ
เป็นผู้ฉลาดในวิชาดูพื้นที่และอากาศ เป็นผู้ใช้วิชา ไม่มีทุกข์
[12] ฆฏิการอุบาสก ผู้เป็นอุปัฏฐาก
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
เป็นผู้มีความเคารพยำเกรง เป็นพระอนาคามี
[13] ฆฏิการอุบาสกได้พาเราเข้าเฝ้าพระชินเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วจึงบวชในสำนักของพระองค์
[14] เราเป็นผู้ปรารภความเพียร ฉลาดในวัตรน้อยวัตรใหญ่
ไม่เสื่อมในที่ไหน ๆ1 ปฏิบัติตามคำสั่งสอน
ของพระชินเจ้าอย่างสมบูรณ์
[15] เล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วทุกอย่าง
ช่วยประกาศพระศาสนาของพระชินเจ้าให้งดงาม
[16] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเห็นความอัศจรรย์ของเราแล้ว
จึงทรงพยากรณ์เราว่า
‘ในภัทรกัปนี้ ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’
[17] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
ทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา
[18] พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
[19] พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ไม่เสื่อมในที่ไหน ๆ หมายถึงไม่เสื่อมในศีล สมาธิ และสมาบัติเป็นต้น (ขุ.พุทธ.อ. 384)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :713 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
[20] จากนั้นพระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
[21] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
[22] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
[23] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรีผู้ไม่มีอาสวะ
สิ้นราคะ มีจิตตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
[24] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกาจักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น
จักมีพระชนมายุประมาณ 100 ปี
[25] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’
[26] สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา
ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง
ประนมมือนมัสการว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :714 }