เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
ทำจิตให้เต็ม ทำลายกิเลสดังคอก
เหมือนโคอุสภะทำลายคอก ฉะนั้นแล้ว
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ
[3] เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระผู้นำสัตว์โลก
ประกาศพระธรรมจักร
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 20,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 1
[4] ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในโลกตลอด 4 เดือน
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 10,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 2
[5] ในคราวเมื่อพระองค์ทรงทำยมกปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ
ประกาศพระญาณธาตุ1
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 5,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 3
[6] พระชินเจ้าทรงแสดงธรรมที่สุธรรมเทพนคร ที่รื่นรมย์นั้น
ทรงทำให้เทวดาประมาณ 3,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรม
[7] ในคราวที่ทรงแสดงธรรมแก่ยักษ์นรเทพ
อีกครั้งหนึ่ง
เทวดาเหล่านั้นได้บรรลุธรรมคำนวณนับไม่ได้
[8] แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพพระองค์นั้น
ก็ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ครั้งเดียว
[9] ครั้งนั้น ภิกษุประมาณ 20,000 รูป
ผู้ล่วงภพ ผู้คงที่ด้วยหิริและศีล มาประชุมกัน
[10] ครั้งนั้น เราเป็นมาณพมีชื่อปรากฏว่าโชติปาละ
คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท

เชิงอรรถ :
1 พระญาณธาตุ ได้แก่ สัพพัญญุตญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. 5/381)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :712 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
[11] ถึงความสำเร็จในคัมภีร์ทำนายลักษณะและคัมภีร์อิติหาสะ
เป็นผู้ฉลาดในวิชาดูพื้นที่และอากาศ เป็นผู้ใช้วิชา ไม่มีทุกข์
[12] ฆฏิการอุบาสก ผู้เป็นอุปัฏฐาก
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
เป็นผู้มีความเคารพยำเกรง เป็นพระอนาคามี
[13] ฆฏิการอุบาสกได้พาเราเข้าเฝ้าพระชินเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วจึงบวชในสำนักของพระองค์
[14] เราเป็นผู้ปรารภความเพียร ฉลาดในวัตรน้อยวัตรใหญ่
ไม่เสื่อมในที่ไหน ๆ1 ปฏิบัติตามคำสั่งสอน
ของพระชินเจ้าอย่างสมบูรณ์
[15] เล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วทุกอย่าง
ช่วยประกาศพระศาสนาของพระชินเจ้าให้งดงาม
[16] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเห็นความอัศจรรย์ของเราแล้ว
จึงทรงพยากรณ์เราว่า
‘ในภัทรกัปนี้ ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’
[17] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
ทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา
[18] พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
[19] พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ไม่เสื่อมในที่ไหน ๆ หมายถึงไม่เสื่อมในศีล สมาธิ และสมาบัติเป็นต้น (ขุ.พุทธ.อ. 384)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :713 }