เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 22. กกุสันธพุทธวงศ์
[18] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[19] พระมหาวีระพระนามว่ากกุสันธะ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ มฤคทายวัน
[20] พระวิธุรเถระและพระสัญชีวนามเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าพุทธิชะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[21] พระสามาเถรีและพระจัมปานามาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นซึก
[22] อัจจุคคตอุบาสกและสุมนอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทาอุบาสิกาและสุนันทาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[23] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง 40 ศอก
พระรัศมีเปล่งปลั่งดังทองคำ แผ่ออกไป 10 โยชน์โดยรอบ
[24] พระชินเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระองค์นั้น
มีพระชนมายุประมาณ 40,000 ปี
พระองค์ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[25] พระองค์พร้อมทั้งสาวก ทรงแผ่ขยายตลาดธรรม1
ให้แก่บุรุษและสตรี ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก

เชิงอรรถ :
1 ทรงแผ่ขยายตลาดธรรม หมายถึง บอกกล่าวสอนพระพุทธพจน์ที่ประกอบด้วยองค์ 9 โดยอรรถ
พยัญชนะ นัย เหตุ อุทาหรณ์ (มิลินฺท. 352)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :705 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 23. โกนาคมนพุทธวงศ์
ทรงบันลือสีหนาท1แล้ว
เสด็จดับขันธปรินิพพาน
[26] พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยพระดำรัสอันมีองค์ 8
มีศีลไม่ด่างพร้อยตลอดกาล ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว2
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
[27] พระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เขมาราม
พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์
ที่เขมารามนั้น สูงถึง 1 คาวุต ฉะนี้แล
กกุสันธพุทธวงศ์ที่ 22 จบ

23. โกนาคมนพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ
ได้มีพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงองอาจกว่านรชน
เป็นผู้เจริญที่สุดในโลก
[2] ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม 10 ประการให้บริบูรณ์
ข้ามทางกันดาร3ได้แล้ว ลอยมลทิน4ทั้งปวงแล้ว
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ

เชิงอรรถ :
1 บันลือสีหนาท ในที่นี้ได้แก่ บันลือสีหนาท คือ ประกาศการให้อภัย (ขุ.พุทฺธ.อ. 25/370)
2 ได้แก่ ยุคของพระสาวกอันตรธานไป (ขุ.พุทฺธ.อ. 25/371)
3 ทางกันดาร คือชาติ (ขุ.พุทฺธ.อ. 1/373)
4 มลทินทั้งปวง ได้แก่ มลทิน 3 มีราคะเป็นต้น (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/373)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :706 }