เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 22. กกุสันธพุทธวงศ์
‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้
เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล
มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว
ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด
เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้
ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’
[12] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการให้ยิ่งขึ้นไป
[13] กรุงชื่อว่าเขมวดี ครั้งนั้น เรามีชื่อว่าเขมะ
เมื่อแสวงหาพระสัพพัญญุตญาณ
จึงออกบวชในสำนักของพระองค์
[14] อัคคิทัตตพราหมณ์นั้นเป็นพุทธบิดา
นางพราหมณีชื่อว่าวิสาขาเป็นมารดาของพระพุทธเจ้า
พระนามกกุสันธะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[15] ตระกูลใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นตระกูลที่ประเสริฐที่สุดของคนทั้งหลาย
มีชาติสูง มียศมาก อยู่ในเขมนครนั้น
[16] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 4,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือกามวัฑฒปราสาท กามสุทธิปราสาท และรติวัฑฒปราสาท
[17] มีนางสนมกำนัล 30,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีพระนามว่าโรปินี
พระราชโอรสพระนามว่าอุตตระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :704 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 22. กกุสันธพุทธวงศ์
[18] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[19] พระมหาวีระพระนามว่ากกุสันธะ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ มฤคทายวัน
[20] พระวิธุรเถระและพระสัญชีวนามเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าพุทธิชะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[21] พระสามาเถรีและพระจัมปานามาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นซึก
[22] อัจจุคคตอุบาสกและสุมนอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทาอุบาสิกาและสุนันทาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[23] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง 40 ศอก
พระรัศมีเปล่งปลั่งดังทองคำ แผ่ออกไป 10 โยชน์โดยรอบ
[24] พระชินเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระองค์นั้น
มีพระชนมายุประมาณ 40,000 ปี
พระองค์ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[25] พระองค์พร้อมทั้งสาวก ทรงแผ่ขยายตลาดธรรม1
ให้แก่บุรุษและสตรี ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก

เชิงอรรถ :
1 ทรงแผ่ขยายตลาดธรรม หมายถึง บอกกล่าวสอนพระพุทธพจน์ที่ประกอบด้วยองค์ 9 โดยอรรถ
พยัญชนะ นัย เหตุ อุทาหรณ์ (มิลินฺท. 352)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :705 }