เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 21. เวสสภูพุทธวงศ์
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักรที่อรุณาราม
[23] พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอุปสันตะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระชินเจ้าพระนามว่าเวสสภู
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[24] พระรามาเถรีและพระสมาลาเถรีเป็นอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอ้อยช้างใหญ่
[25] โสตถิกอุบาสกและรัมมอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
โคตมีอุบาสิกาและสิริมาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[26] พระองค์ทรงมีพระวรกายสูง 60 ศอก
เปรียบเสมอด้วยเสาทองคำ พระรัศมีเปล่งออกจากพระวรกาย
ดังไฟบนภูเขาในเวลากลางคืน
[27] พระชินเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระองค์นั้น
มีพระชนมายุประมาณ 60,000 ปี
พระองค์ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[28] พระองค์พร้อมทั้งสาวก ทรงจำแนกธรรมไว้อย่างพิสดาร
ประดิษฐานมหาชนไว้ในธรรมนาวาแล้ว1
ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน
[29] ชนทุกหมู่เหล่า พระวิหารและอิริยาบถที่น่าทัศนา
ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมนาวา ในที่นี้ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 (ขุ.พุทฺธ.อ. 28/364)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :700 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 22. กกุสันธพุทธวงศ์
[30] พระชินศาสดาผู้ประเสริฐพระนามว่าเวสสภู
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เขมาราม
พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์
แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
เวสสภูพุทธวงศ์ที่ 21 จบ

22. กกุสันธพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระกกุสันธพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ตามพระโคตร
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
มีพระคุณหาประมาณมิได้ หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[2] ทรงเพิกถอนภพทั้งปวง1 ถึงที่สุดแห่งจริยา2
ทรงทำลายกิเลส ดังราชสีห์ทำลายกรง3แล้ว
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ
[3] เมื่อพระกกุสันธพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงประกาศพระธรรมจักร
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 40,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 1
[4] พระองค์แสดงฤทธิ์กระทำยมกปาฏิหาริย์ในอากาศกลางหาว
ทรงทำเทวดาและมนุษย์ประมาณ 30,000 โกฏิ ให้บรรลุธรรม
[5] ในคราวประกาศอริยสัจ 4 แก่ยักษ์นรเทพ
การบรรลุธรรมของยักษ์นั้น ไม่ได้คำนวณนับ

เชิงอรรถ :
1 ภพทั้งปวง ได้แก่ ภพ 9 (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/368)
2 จริยา หมายถึงบารมี (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/368)
3 กรง หมายถึงภพ (ขุ.พุทธ.อ. 2/364)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :701 }