เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 20. สิขีพุทธวงศ์
[5] เมื่อพระองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในมนุษย์โลกพร้อมเทวโลก
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 80,000 โกฏิ
ได้บรรรลุธรรมครั้งที่ 3
[6] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขีผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ก็ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ 3 ครั้ง
[7] พระขีณาสพจำนวน 100,000 รูป
มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 1
มีพระขีณาสพจำนวน 80,000 รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 2
[8] มีพระขีณาสพจำนวน 70,000 รูป
มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 3
ภิกษุที่มาประชุมกันแม้นั้น ไม่แปดเปื้อนด้วยโลกธรรม
เหมือนดอกบัวที่เจริญในน้ำก็ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ
[9] สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์มีนามว่าอรินทมะ
ได้อังคาสพระสงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
[10] ได้ถวายผ้าอย่างดีมากมายหลายโกฏิผืน
ได้ถวายพาหนะคือช้างซึ่งประดับแล้วอย่างดี
แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[11] เราได้ทำราชพาหนะคือช้างให้เป็นของสมควรแก่สมณะ
แล้วนำไปถวาย ทำจิตของเราให้ตั้งมั่นเป็นนิตย์
[12] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขีพระองค์นั้น
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ก็ทรงพยากรณ์เราว่า
‘ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :691 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 20. สิขีพุทธวงศ์
[13] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์แล้ว
ทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา
พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว
จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :692 }