เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 19. วิปัสสีพุทธวงศ์
[8] ภิกษุประมาณ 6,800,000 รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 1
ภิกษุประมาณ 100,000 รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 2
[9] ภิกษุประมาณ 80,000 รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 3
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรุ่งเรืองยิ่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุนั้น
[10] สมัยนั้น เราเป็นพญานาคผู้มีฤทธิ์มาก
มีบุญ มีความรุ่งเรือง มีนามว่าอตุละ ตามโคตร
[11] ครั้งนั้น เรามีนาคหลายโกฏิแวดล้อม
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก
บรรเลงดนตรีทิพย์ถวาย
[12] เราครั้นเข้าเฝ้าพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว
ทูลนิมนต์พระองค์แล้ว ได้ถวายตั่งทอง
อันประดับด้วยแก้วมณีและแก้วมุกดา
ประดับด้วยอาภรณ์ทุกชนิดแก่พระองค์ผู้เป็นพระธรรมราชา
[13] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประทับนั่งท่ามกลางสงฆ์แล้ว
ทรงพยากรณ์เราว่า
‘ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป พญานาคนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’
[14] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์แล้ว
ทรงเริ่มตั้งความเพียรบำเพ็ญทุกรกิริยา
[15] พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
[16] พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :686 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 19. วิปัสสีพุทธวงศ์
[17] จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้สัมโพธิญาณที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
[18] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
[19] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
[20] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบระงับ
ตั้งมั่นดีจักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
[21] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา
จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ 100 ปี
[22] เทวดาและมนุษย์ ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :687 }