เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 18. ปุสสพุทธวงศ์
[4] เทวดาและมนุษย์ประมาณ 9,000,000
ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 2
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 8,000,000 ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 3
[5] พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าปุสสะ
ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ 3 ครั้ง
[6] พระขีณาสพประมาณ 6,000,000 รูป
มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 1
พระขีณาสพประมาณ 5,000,000 รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 2
[7] พระขีณาสพประมาณ 4,000,000 รูป
ล้วนแต่หลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ตัดที่ต่อคือกิเลสได้แล้ว
มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 3
[8] สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์มีนามว่าวิชิตะ
สละราชสมบัติเป็นอันมาก แล้วออกผนวชในสำนักของพระองค์
[9] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ
พระองค์นั้น ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของชาวโลก
ทรงพยากรณ์เราว่า
‘ในกัปที่ 92 จากกัปนี้ไป ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’
พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
[10] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร
บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :681 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 18. ปุสสพุทธวงศ์
จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา
จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น
จักมีพระชนมายุประมาณ 100 ปี
เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :682 }