เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 17. ติสสพุทธวงศ์
[19] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือม้าออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ครึ่งเดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[20] พระมหาวีระพระนามว่าติสสะ ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักรที่ยสวดีทายวันอันประเสริฐ
[21] พระพรหมเทพเถระและพระอุทัยเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าสุมังคละเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[22] พระผุสสาเถรีและพระสุทัตตาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นประดู่
[23] สัมพลอุบาสกและสิริอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
กีสาโคตมีอุบาสิกาและอุปเสนาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[24] พระชินพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงมีพระวรกายสูง 60 ศอก
ผู้ไม่มีบุคคลเปรียบ ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงปรากฏดังภูเขา
[25] แม้พระองค์ผู้มีเดชไม่มีอะไรเปรียบเทียบ ผู้มีพระจักษุ
ทรงดำรงพระชนมายุอยู่ในโลกประมาณ 100,000 ปี
ไม่ยิ่งไปกว่านั้น1
[26] พระองค์พร้อมทั้งสาวก เสวยยศยิ่งใหญ่ อุดม ประเสริฐสุด
ทรงรุ่งเรืองดังกองเพลิงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เชิงอรรถ :
1 ไม่ยิ่งไปกว่านั้น หมายถึงไม่มากไม่น้อยไปกว่า 100,000 ปี (ขุ.พุทธ.อ. 25/333)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :679 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 18. ปุสสพุทธวงศ์
[27] พระองค์พร้อมทั้งสาวก เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ดังเมฆหายจางไปเพราะสายลม
ดังน้ำค้างเหือดแห้งไปเพราะดวงอาทิตย์
และดังความมืดหายไปเพราะดวงไฟ ฉะนั้น
[28] พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าติสสะ
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วที่นันทาราม
พระสถูปของพระชินเจ้านั้น
ที่นันทารามนั้น สูงถึง 3 โยชน์ ฉะนี้แล
ติสสพุทธวงศ์ที่ 17 จบ

18. ปุสสพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระปุสสพุทธเจ้า
[1] ในมัณฑกัปนั้นแล ได้มีพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมพระนามว่าปุสสะ
ไม่มีบุคคลเปรียบ ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
[2] แม้พระองค์ก็ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง
ทรงสางความรกชัฏเป็นอันมาก1แล้ว
ทรงยังน้ำอมฤต2ให้ตก ช่วยมนุษย์
พร้อมทั้งเทวดาได้ดื่มจนสำราญ
[3] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ
ทรงประกาศพระธรรมจักรในนักขัตตมงคล
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 100,000 โกฏิ
ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 1

เชิงอรรถ :
1 ความรกชัฏเป็นอันมาก ได้แก่ ตัณหา (ขุ.พุทธ.อ. 2/335)
2 น้ำอมฤต ได้แก่ ธรรมกถา (ขุ.พุทธ.อ. 2/335)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :680 }