เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 17. ติสสพุทธวงศ์
17. ติสสพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระติสสพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ
มีศีลหาที่สุดมิได้ มีพระยศนับมิได้
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
[2] พระมหาวีระผู้มีพระจักษุ ผู้ทรงอนุเคราะห์
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงขจัดความมืดได้แล้ว
ฉายพระรัศมีให้มนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกสว่างไสว
[3] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระฤทธิ์
ศีลและสมาธิอันหาสิ่งทัดเทียมมิได้
ทรงถึงความสำเร็จในธรรมทั้งปวงแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักร
[4] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงธรรม
ประกาศความบริสุทธิ์ไปในหมื่นจักรวาล
ในพระธรรมเทศนาครั้งที่ 1
เทวดาและมนุษย์ 100 โกฏิ ได้บรรลุธรรม
[5] เทวดาและมนุษย์ประมาณ 90 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 2
ในการแสดงธรรมครั้งที่ 3
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 60 โกฏิ ได้บรรลุธรรม
ครั้งนั้นพระองค์ทรงเปลื้องเทวดาและมนุษย์
ที่มาประชุมกันให้หลุดพ้นจากเครื่องผูกพัน1
[6] พระติสสพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ 3 ครั้ง

เชิงอรรถ :
1 เครื่องผูกพัน หมายถึงสังโยชน์ 10 (ขุ.พุทธ.อ. 5/330)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :675 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 17. ติสสพุทธวงศ์
[7] พระขีณาสพประมาณ 100,000 รูป
มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 1
พระขีณาสพประมาณ 9,000,000 รูป
มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 2
[8] พระขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน
เบิกบานแล้วด้วยวิมุตติประมาณ 8,000,000 รูป
มาประชุมกันเป็นครั้งที่ 3
[9] สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์มีนามว่าสุชาตะ
ละทิ้งโภคะเป็นอันมากแล้ว บวชเป็นฤๅษี
[10] เมื่อเราบวชแล้ว พระพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกเสด็จอุบัติขึ้น
เพราะได้ฟังเสียงว่า พุทโธ ปีติจึงเกิดแก่เรา
[11] เราผู้กำจัดมานะแล้ว ใช้มือทั้ง 2 ประคองดอกมณฑารพ
ดอกปทุม และดอกปาริฉัตตกะอันเป็นทิพย์เข้าเฝ้า
[12] เราถือดอกไม้นั้น กั้นเหนือพระเศียร
พระชินเจ้าพระนามว่าติสสะ
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ผู้แวดล้อมด้วยวรรณะทั้ง 41
[13] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประทับนั่งท่ามกลางประชุมชน
ทรงพยากรณ์เราว่า
‘ในกัปที่ 92 จากกัปนี้ไป ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’
พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
[14] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร
บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา

เชิงอรรถ :
1 วรรณะ 4 หมายถึง วรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และสมณะ (ขุ.พุทธ.อ. 12/337)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :676 }