เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 16. สิทธัตถพุทธวงศ์
[18] พระสัมพลเถระและพระสุมิตตเถระ เป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าเรวตะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[19] พระสีวลาเถรีและพระสุรามาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นกรรณิการ์
[20] สุปปิยอุบาสกและสมุททอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
รัมมาอุบาสิกาและสุรัมมาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[21] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง 60 ศอก
ทรงงดงามดังทองคำที่ล้ำค่า
รุ่งเรืองไปทั่วหมื่นจักรวาล
[22] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
มีพระคุณนับไม่ได้ ไม่มีบุคคลเปรียบ ผู้มีพระจักษุ
ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ในโลกประมาณ 100,000 ปี
[23] พระองค์ทรงแสดงพระรัศมีอย่างกว้างขวาง
ทรงทำสาวกทั้งหลายให้เบิกบาน
ทรงเยื้องกรายงดงามด้วยสมาบัติ
พร้อมทั้งสาวกเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[24] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อโนมาราม
พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์
ที่อโนมารามนั้น สูงถึง 4 โยชน์ ฉะนี้แล
สิทธัตถพุทธวงศ์ที่ 16 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :674 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 17. ติสสพุทธวงศ์
17. ติสสพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระติสสพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ
มีศีลหาที่สุดมิได้ มีพระยศนับมิได้
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
[2] พระมหาวีระผู้มีพระจักษุ ผู้ทรงอนุเคราะห์
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงขจัดความมืดได้แล้ว
ฉายพระรัศมีให้มนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกสว่างไสว
[3] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระฤทธิ์
ศีลและสมาธิอันหาสิ่งทัดเทียมมิได้
ทรงถึงความสำเร็จในธรรมทั้งปวงแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักร
[4] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงธรรม
ประกาศความบริสุทธิ์ไปในหมื่นจักรวาล
ในพระธรรมเทศนาครั้งที่ 1
เทวดาและมนุษย์ 100 โกฏิ ได้บรรลุธรรม
[5] เทวดาและมนุษย์ประมาณ 90 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 2
ในการแสดงธรรมครั้งที่ 3
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 60 โกฏิ ได้บรรลุธรรม
ครั้งนั้นพระองค์ทรงเปลื้องเทวดาและมนุษย์
ที่มาประชุมกันให้หลุดพ้นจากเครื่องผูกพัน1
[6] พระติสสพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ 3 ครั้ง

เชิงอรรถ :
1 เครื่องผูกพัน หมายถึงสังโยชน์ 10 (ขุ.พุทธ.อ. 5/330)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :675 }