เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 13. ปิยทัสสีพุทธวงศ์
[14] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการให้ยิ่งขึ้นไป
[15] กรุงชื่อว่าสุธัญญะ กษัตริย์พระนามว่าสุทัตตะเป็นพระชนก
พระเทวีพระนามว่าสุจันทาเป็นพระชนนี
ของพระศาสดาพระนามว่าปิยทัสสี
[16] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 9,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือสุนิมมลปราสาท วิมลปราสาท และคิริคูหาปราสาท
[17] มีนางสนมกำนัล 33,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีพระนามว่าวิมลา
พระราชโอรสพระนามว่ากัญจนาเวฬะ
[18] พระองค์ผู้สูงสุดแห่งบุรุษทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[19] พระมหาวีรมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร
ที่พระอุทยานอุสภวันน่ารื่นรมย์ใจ
[20] พระปาลิตเถระและพระสัพพทัสสีเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าโสภิตะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระศาสดาพระนามว่าปิยทัสสี
[21] พระสุชาตาเถรีและพระธรรมทินนาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นกุ่ม
[22] สันทกอุบาสกและธรรมิกอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
วิสาขาอุบาสิกาและธรรมทินนาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :659 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 14. อัตถทัสสีพุทธวงศ์
[23] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มีพระยศนับไม่ถ้วน
ทรงพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ1
มีพระวรกายสูง 80 ศอก ปรากฏดังต้นพญาไม้สาละ
[24] รัศมีไฟ รัศมีดวงจันทร์ รัศมีดวงอาทิตย์
ก็ไม่เหมือนกับพระรัศมีพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หาผู้เสมอมิได้ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[25] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
มีพระจักษุ ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ในโลกประมาณ 90,000 ปี
[26] แม้พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนพระองค์นั้น
แม้คู่พระอัครสาวกซึ่งไม่มีผู้เทียบเคียงเหล่านั้น
ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
[27] พระมุนีผู้ประเสริฐพระนามว่าปิยทัสสี
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อัสสัตถาราม
พระสถูปของพระชินเจ้านั้น
ที่อัสสัตถารามนั้น สูงถึง 3 โยชน์ ฉะนี้แล
ปิยทัสสีพุทธวงศ์ที่ 13 จบ

14. อัตถทัสสีพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
[1] ในมัณฑกัปนั้นแล ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ทรงขจัดความมืด2ใหญ่ออกไปแล้ว
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถหน้า 10 ในเล่มนี้
2 ความมืด หมายถึงความมืดคือโมหะ (ขุ.พุทธ.อ. 213)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :660 }