เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 12. สุชาตพุทธวงศ์
เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
“ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’
สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา
ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง
ประนมมือนมัสการว่า
‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้
เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล
มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว
ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด
เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้
ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’
[17] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ก็ทำความยินดีให้เกิดขึ้นอย่างยิ่ง
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป
[18] เราได้เล่าเรียนพระสูตรและพระวินัย
อันเป็นนวังคสัตถุศาสน์ทั้งปวงแล้ว
ช่วยประกาศศาสนาของพระชินเจ้าให้รุ่งเรือง
[19] เราเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในคำสั่งสอนนั้น
เจริญพรหมวิหารภาวนา
ถึงความสำเร็จอภิญญาแล้ว ได้ไปเกิดในพรหมโลก
[20] กรุงชื่อว่าสุมังคละ กษัตริย์พระนามว่าอุคคตะเป็นพระชนก
พระเทวีพระนามว่าประภาวดีเป็นพระชนนี
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :653 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 12. สุชาตพุทธวงศ์
[21] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 9,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือสิริปราสาท อุปสิริปราสาท และจันทปราสาท
[22] มีนางสนมกำนัล 23,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีพระนามว่าสิรินันทา
พระราชโอรสพระนามว่าอุปเสนะ
[23] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือม้าออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 9 เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[24] พระมหาวีระพระนามว่าสุชาตะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร
ที่พระอุทยานสุมังคละ อันประเสริฐ
[25] พระสุทัสสนเถระและพระสุเทวเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่านารทะเป็นอุปัฏฐาก
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[26] พระนาคาเถรีและพระนาคสมานาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นไผ่ใหญ่
[27] และต้นไม้นั้น ลำต้นแข็งเป็นไผ่ตัน1 มีใบแน่นหนา
ลำต้นตรงใหญ่ น่าดู น่ารื่นรมย์ใจ
[28] ต้นหนึ่งเจริญงอกงามแล้วแตกกิ่งก้านสาขาออกไป
ต้นไม้นั้นย่อมงามเหมือนกำหางนกยูงที่ผูกไว้ดีแล้ว
[29] ไม้ไผ่นั้นไม่มีหนาม มีช่องไม่ใหญ่
มีกิ่งชิดไม่ห่าง มีเงาทึบ น่ารื่นรมย์ใจ

เชิงอรรถ :
1 ไผ่ตัน หมายถึงไผ่มีรูที่ปล้องเล็ก (ขุ.พุทธ.อ. 27/300)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :654 }