เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 10. ปทุมุตตรพุทธวงศ์
[4] จากนั้น เมื่อพระองค์ทำฝนคือธรรมให้ตก
ช่วยเหล่าสัตว์ให้อิ่มหนำ(ด้วยฝนคืออมตะ)
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 37,000(โกฏิ) ได้บรรลุธรรม ครั้งที่ 2
[5] ในกาลที่พระมหาวีรเจ้า
ได้เสด็จเข้าไปหาพระเจ้าอานันทะ(ผู้เป็นพระราชบิดา)
ครั้นเข้าไปสำนักของพระราชบิดาแล้ว ได้ทรงลั่นอมตเภรี
[6] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงลั่นอมตเภรี
บันดาลสายฝนคือธรรมให้ตกลง
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 5,000,000 (โกฏิ)
ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 3
[7] พระพุทธเจ้าผู้ฉลาดในเทศนา ผู้ทรงประทานโอวาท
ผู้ทำเหล่าสัตว์ให้รู้แจ้งทรงช่วยสัตว์ทั้งปวงให้ข้าม
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[8] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
มีการประชุมสาวก 3 ครั้ง
มีสาวกประมาณ 100,000 โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 1
[9] ในกาลที่พระพุทธเจ้า
ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ประทับอยู่ที่เวภารบรรพต
สาวกประมาณ 90,000 โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 2
[10] เมื่อพระองค์เสด็จจากคามนิคมและแว่นแคว้นหลีกจาริกไป
สาวกประมาณ 80,000 โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ 3
[11] สมัยนั้น เราเป็นชฎิลมีชื่อว่ารัฏฐิกะ
ได้ถวายผ้าพร้อมภัตตาหารแด่พระสงฆ์
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
[12] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ประทับนั่งท่ามกลางพระสงฆ์
ทรงพยากรณ์เราว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :640 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 10. ปทุมุตตรพุทธวงศ์
จากนี้ไปอีก 100,000 กัป
ชฎิลนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า
พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
[13] ทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา
จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว
จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :641 }