เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [44. เอกวิหาริวรรค] 3. ปาฏิหีรสัญญกเถราปทาน
[27] ทันทีที่พระพุทธเจ้า ผู้สงบ ผู้คงที่
เสด็จเข้าพระนคร ก็ได้มีเสียงกึกก้อง
ให้การต้อนรับตามถนน
[28] เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนคร
พิณที่ไม่มีคนดีดคนเคาะ ก็บรรเลงขึ้นเอง ด้วยพุทธานุภาพ
[29] ข้าพเจ้านมัสการพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นมหามุนี
และเห็นปาฏิหาริย์แล้ว ได้ทำจิตให้เลื่อมใสในปาฏิหาริย์นั้น
[30] พระพุทธเจ้า ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม ช่างน่าอัศจรรย์
การที่เรามาประจวบกับพระศาสดา ช่างน่าอัศจรรย์
เครื่องดนตรีแม้ปราศจากจิตวิญญาณก็ยังบรรเลงได้เอง
[31] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
เพราะข้าพเจ้าได้ความประทับใจในพระพุทธเจ้า
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประทับใจในพระพุทธเจ้า
[32] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[33] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :63 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [44. เอกวิหาริวรรค] 4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
[34] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาฏิหีรสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปาฏิหีรสัญญกเถราปทานที่ 3 จบ

4. ญาณัตถวิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณัตถวิกเถระ
(พระญาณัตถวิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[35] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุด
แห่งเทวดาและมนุษย์รุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์
โชติช่วงดังต้นพฤกษาประทีป1 ไพโรจน์ดังทองคำ
[36] ข้าพเจ้าวางคนโทน้ำ ผ้าเปลือกไม้
ธมกรก(กระบอกกรองน้ำ) ทำหนังเสือเฉวียงบ่า
แล้วก็สดุดีพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดว่า
[37] ข้าแต่พระมุนี พระองค์ทรงขจัดความมืดมน
ซึ่งอากูลไปด้วยข่ายคือโมหะ
ทรงแสดงแสงสว่างคือญาณ แล้วเสด็จข้ามไป
[38] พระองค์ทรงถอนสัตว์โลกนี้ขึ้น(จากวัฏฏสงสาร) แล้ว
พระญาณอันหยั่งรู้สรรพสิ่ง(ของพระองค์) เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม
คติทั่วหล้าก็มิอาจเปรียบได้กับพระญาณของพระองค์

เชิงอรรถ :
1 ต้นพฤกษาประทีป หมายถึงดอกไม้ไฟ โคมไฟ (ขุ.อป.อ. 1/44-45/131, ขุ.พุทฺธ.อ. 45/79,30/189)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :64 }