เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 7. อโนมทัสสีพุทธวงศ์
[16] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ทั้งยินดี ทั้งตื้นตันใจ
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการให้ยิ่งขึ้นไป
[17] กรุงชื่อว่าจันทวดี กษัตริย์พระนามว่ายสวาเป็นพระชนก
พระเทวีพระนามว่ายโสธราเป็นพระชนนี
ของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี
[18] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 10,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือสิริปราสาท อุปสิริปราสาท และวัฑฒปราสาท
[19] มีนางสนมกำนัล 23,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีพระนามว่าสิริมา
พระราชโอรสพระนามว่าอุปสาละ
[20] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงวอทองออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[21] พระมหาวีรมหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร
ณ พระอุทยานสุทัสสนะอันประเสริฐ
[22] พระนิสภเถระและพระอโนมเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าวรณะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี
[23] พระสุนทราเถรีและพระสุมนาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่าต้นรกฟ้า
[24] นันทิวัฑฒอุบาสกและสิริวัฑฒอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
อุปปลาอุบาสิกาและปทุมาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :627 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 8. ปทุมพุทธวงศ์
[25] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง 58 ศอก
พระองค์มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกสว่างไสว ดังดวงอาทิตย์อุทัย
[26] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ 100,000 ปี
พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[27] ศาสนาของพระชินเจ้าบานสะพรั่ง
งดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้คงที่
ปราศจากราคะและไม่มีมลทิน
[28] พระศาสดาพระองค์นั้นผู้มีพระยศหาประมาณมิได้
และคู่พระอัครสาวกผู้ไม่มีบุคคลเสมอเหมือน
ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
[29] พระชินศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ธรรมาราม
พระสถูปของพระชินเจ้านั้น
ที่ธรรมารามนั้น สูง 25 โยชน์ ฉะนี้แล
อโนมทัสสีพุทธวงศ์ที่ 7 จบ

8. ปทุมพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติพระปทุมพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะตามพระโคตร
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ไม่มีใครเสมอเหมือน
ไม่มีบุคคลเปรียบ
[2] แม้ศีลของพระองค์ก็ไม่มีสิ่งไรเสมอ แม้สมาธิก็ไม่มีที่สุด
พระญาณอันประเสริฐนับไม่ถ้วน และแม้วิมุตติก็ไม่มีอะไรเปรียบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :628 }