เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 6. โสภิตพุทธวงศ์
[20] พระมหาวีระพระนามว่าโสภิตะ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักร
ณ พระอุทยานสุธรรมาอันประเสริฐ
[21] พระอสมเถระและพระสุเนตตเถระเป็นพระอัครสาวก
พระอโนมเถระเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[22] พระนกุลาเถรีและพระสุชาตาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
และพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อตรัสรู้
ก็ได้ตรัสรู้ที่โคนต้นกากะทิง
[23] รัมมอุบาสกและสุเนตตอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
นกุลาอุบาสิกาและจิตตาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[24] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง 58 ศอก
ทรงเปล่งพระรัศมีสว่างไสวไปทั่วทิศ ดังดวงอาทิตย์อุทัย
[25] คำสั่งสอนของพระองค์อบไปด้วยกลิ่นศีล
เปรียบเหมือนป่าไม้ที่มีดอกบานสะพรั่งอบไปด้วยกลิ่นต่าง ๆ
[26] คำสอนของพระองค์ใคร ๆ ไม่เบื่อจะฟัง
เหมือนสาครที่ใคร ๆ ไม่เบื่อที่จะเห็น
[27] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ 90,000 ปี
พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[28] พระองค์พร้อมกับสาวกนั้น
ทรงประทานพระโอวาทและการพร่ำสอน
ทรงสั่งสอนหมู่ชนที่เหลือให้เผากิเลสแล้ว
ปรินิพพานดังเปลวไฟไหม้เชื้อแล้วดับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :622 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 7. อโนมทัสสีพุทธวงศ์
[29] พระพุทธเจ้าผู้หาใครเสมอเหมือนมิได้
และสาวกผู้บรรลุพลธรรม
ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
[30] พระโสภิตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่สีหาราม
พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์
แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
โสภิตพุทธวงศ์ที่ 6 จบ

7. อโนมทัสสีพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ มีพระยศหาประมาณมิได้
ทรงมีพระเดชยากที่จะล่วงได้
[2] พระองค์ทรงตัดกิเลสเครื่องผูกได้ทุกอย่าง1
ทรงทำลายภพทั้ง 32 แล้ว
ทรงแสดงทางที่มีการไปไม่หวนกลับ3
แก่หมู่เทวดาและมนุษย์
[3] พระองค์ทรงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวดังมหาสมุทร
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยากดังภูเขา

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงตัดกิเลสเครื่องผูกคือสังโยชน์ 10 ได้ทั้งหมด (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/253)
2 ภพ 3 ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ที.ปา. (แปล) 11/305/265)
3 ทางที่ไปแล้วไม่หวนกลับในที่นี้ได้แก่ นิพพาน (ขุ.พุทฺธ.อ. 253)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :623 }