เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 3. มังคลพุทธวงศ์
[23] พระสุเทวเถระและพระธรรมเสนเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าปาลิตะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[24] พระสีลวาเถรีและพระอโสกาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นกากะทิง
[25] นันทอุบาสกและวิสาขอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
อนุฬาอุบาสิกาและสุมนาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[26] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง 88 ศอก
มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย
ของพระองค์นั้นไปไกลหลายแสนจักรวาล
[27] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ 90,000 ปี
พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[28] สาวกของพระองค์ใคร ๆ ไม่สามารถจะนับได้
เหมือนคลื่นในสมุทรสาครที่ใคร ๆ ไม่อาจนับได้
[29] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงดำรงพระชนมายุอยู่เพียงใด
ในศาสนาของพระองค์ไม่มีการตายอย่างคนมีกิเลสเพียงนั้น
[30] พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ทรงชูคบเพลิงคือพระธรรม
ทรงช่วยมหาชนให้ข้ามพ้น
ทรงรุ่งเรืองเหมือนเปลวไฟ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[31] ทรงแสดงอรรถแห่งสภาวะของสังขาร
ในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงรุ่งเรืองดังกองเพลิง เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ดังดวงอาทิตย์อัสดง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :606 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 4. สุมนพุทธวงศ์
[32] พระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ
เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระราชอุทยานชื่อเวสสระ
พระสถูปของพระชินเจ้านั้นสูง 30 โยชน์
ณ พระราชอุทยานชื่อเวสสระนั้น” ฉะนี้แล
มังคลพุทธวงศ์ที่ 3 จบ

4. สุมนพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระสุมนพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ
ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำพระนามว่าสุมนะ
ไม่มีใครเสมอโดยธรรมทั้งปวง
ทรงสูงสุดแห่งสัตว์ทั้งปวง
[2] ครั้งนั้น พระศาสดาทรงลั่นอมตเภรี1ในเมขลบุรี
คำสอนของพระชินเจ้ามีองค์ 9 ประกอบด้วยธรรมฝ่ายขาว
[3] พระศาสดาพระองค์นั้น ทรงชำนะกิเลสแล้ว
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐสุด
ทรงสร้างนครคือพระสัทธรรมซึ่งเป็นเมืองประเสริฐที่สุด
[4] พระองค์ทรงสร้างถนนใหญ่คือสติปัฏฐาน อันล้ำเลิศ
ไม่มีอะไรคั่น ไม่คด เป็นถนนตรง ไพบูลย์ กว้างขวาง
[5] ทรงแผ่สามัญผล 4 ปฏิสัมภิทา 4 อภิญญา 6
และสมาบัติ 8 ไว้บนถนน2นั้น
[6] ชนเหล่าใดเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่มีกิเลสเพียงดังตะปูตรึงใจ3
ประกอบด้วยหิริและความเพียร
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถือเอาคุณอันประเสริฐนี้ได้อย่างสบาย

เชิงอรรถ :
1 ลั่นอมตเภรี ได้แก่ บรรลุนิพพาน (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/227)
2 ถนน หมายถึงมหาสติปัฏฐาน 4 (ขุ.พุทธ.อ. 4/228)
3 กิเลสเพียงดังตะปูตรึงใจ ได้แก่ เคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขาและ
โกรธ (องฺ.ทสก. (แปล) 24/14/22)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :607 }