เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. โกณฑัญญพุทธวงศ์
[31] พระชินศาสดาพระนามว่าทีปังกรเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ณ นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระชินเจ้าพระองค์นั้น
สูง 36 โยชน์ ณ นันทารามนั้น
พระสถูปบรรจุบาตร จีวร บริขาร และเครื่องบริโภค
ของพระองค์ผู้ศาสดา ที่โคนต้นโพธิ์ในกาลนั้นสูง 3 โยชน์
ทีปังกรพุทธวงศ์ที่ 1 จบ

2. โกณฑัญญพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงมีพระเดชหาที่สุดมิได้
มีพระยศประมาณมิได้ มีพระคุณประมาณมิได้
และยากที่จะกระทบกระทั่งได้
[2] พระองค์ทรงเปรียบดังแผ่นดินโดยขันติธรรม
เปรียบดังสาครโดยศีล
เปรียบดังภูเขาสิเนรุโดยสมาธิ
เปรียบดังท้องฟ้าโดยปัญญา
[3] ทรงประกาศธรรมที่ควรประกาศคืออินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค
อริยสัจ ในกาลทุกเมื่อ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
[4] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงประกาศพระธรรมจักร
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 100,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 1
[5] จากนั้น เมื่อทรงแสดงพระธรรมในสมาคมของเทวดาและมนุษย์
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 90,000 โกฏิ
ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :596 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. โกณฑัญญพุทธวงศ์
[6] ในคราวที่พระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมย่ำยีพวกเดียรถีย์
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 80,000 โกฏิได้บรรลุธรรมครั้งที่ 3
[7] พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้มีการประชุมพระสาวกผู้เป็นขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ 3 ครั้ง
[8] พระขีณาสพจำนวน 100,000 โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ 1
พระขีณาสพจำนวน 1,000 โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ 2
พระขีณาสพจำนวน 90 โกฏิ มาประชุมกัน ครั้งที่ 3
[9] ครั้งนั้น เราเป็นพระมหากษัตริย์มีนามว่าวิชิตาวี
แผ่ความเป็นใหญ่ไปโดยมีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขต
[10] เราได้อังคาสภิกษุประมาณ 10,000 โกฏิ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ปราศจากมลทิน
พร้อมด้วยพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งอันเลิศของสัตว์โลก
ให้อิ่มหนำด้วยอาหารอันประณีต
[11] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะพระองค์นั้น
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ก็ทรงพยากรณ์เราว่า
ในกัปอันนับประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป
เขาจักเป็นพุทธเจ้าในโลก
พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
[12] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร
บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :597 }