เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
พื้นพสุธาโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล
ก็ไหวด้วยเดชแห่งธรรม
[167] ปฐพีไหวสะเทือนเลื่อนลั่นเหมือนยนต์หีบอ้อย
เมทนีดลหวั่นไหวเหมือนล้อที่หีบน้ำมัน
[168] บริษัทประมาณเท่าใด มีอยู่ในบริเวณรอบ ๆ พระพุทธเจ้า
บริษัทประมาณเท่านั้น สั่นเทานอนสลบอยู่บนภาคพื้นที่บริเวณนั้น
[169] หม้อน้ำหลายพันหม้อ หม้อข้าวหลายร้อยหม้อ
หม้อใส่กระแจะและหม้อที่ใส่เปรียงในที่นั้น
ต่างก็กระทบกันและกัน
[170] มหาชนหวาดเสียว สะดุ้งกลัว ตื่นตระหนก
มีใจหวาดหวั่น ประชุมกัน
พากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร
[171] ทูลถามว่า ‘อะไรจักมีแก่ชาวโลก
เป็นเหตุดีหรือเหตุร้าย
ชาวโลกทั้งปวงถูกเบียดเบียน
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์ได้โปรดบรรเทาภัยที่เบียดเบียนนั้นเถิด’
[172] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ทรงเป็นพระมหามุนี ทรงแจ้งให้มหาชนได้เข้าใจว่า
‘ในการที่พสุธาไหวครั้งนี้ ท่านทั้งหลายจงเบาใจเถิด
อย่าตกใจกลัวเลย
[173] วันนี้เราพยากรณ์ผู้ใดว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
ผู้นั้นพิจารณาเห็นธรรมที่พระชินเจ้าทรงอบรมสั่งสมมาก่อน
[174] เมื่อผู้นั้นพิจารณาธรรมซึ่งเป็นพุทธภูมิโดยไม่มีเหลือ
เพราะเหตุนั้น ปฐพีโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกจึงไหวแล้ว’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :589 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
[175] ขณะนั้น มหาชนได้ฟังพระดำรัสแล้ว
ก็เกิดความสบายใจขึ้น
ทุกคนพากันมาหาเราแล้วอภิวาทอีก
[176] ครั้งนั้น เรายึดพระพุทธคุณ ทำใจให้มั่นคง
นมัสการพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรแล้วลุกจากอาสนะ
[177] ชน 2 ฝ่าย คือ เทพถือดอกไม้ทิพย์
หมู่มนุษย์ถือดอกไม้ที่เป็นของมนุษย์
ต่างโปรยปรายดอกไม้ทั้งหลายเพื่อเราผู้ลุกจากอาสนะ
[178] อนึ่ง เทพและมนุษย์ทั้ง 2 ฝ่ายเหล่านั้น
ต่างก็ประกาศความสวัสดีว่า
‘ท่านปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่หลวง
ขอท่านได้ตำแหน่งนั้นตามความปรารถนาเถิด
[179] เสนียดจัญไรทั้งปวงจงอย่ามี
ความโศกและโรคจงอย่ามี
อันตรายจงอย่ามีแก่ท่าน
ขอให้ท่านได้บรรลุพระโพธิญาณ1อันประเสริฐเร็วพลันเถิด
[180] เมื่อถึงฤดู (ที่ต้นไม้ผลิดอก) หมู่ไม้จำพวกที่มีดอก
ก็ผลิดอก ฉันใด
ท่านผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่
ขอท่านจงผลิด้วยพระพุทธญาณ2 ฉันนั้นเหมือนกันเถิด
[181] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมี 10 ประการมาแล้วฉันใด

เชิงอรรถ :
1 โพธิญาณ ในที่นี้ ได้แก่ อรหัตตมรรคญาณ หรือสัพพัญญุตญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. 179/177)
2 พุทธญาณ ได้แก่ พุทธญาณ 18 (ขุ.พุทธ.อ. 180/173)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :590 }