เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
[141] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นขันติบารมีเป็นข้อที่ 6
ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน
ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า
[142] ‘ท่านจงยึดขันติบารมีข้อที่ 6 นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน
ท่านมีใจแน่วแน่(ไม่เป็นสอง)ในขันติบารมีนั้น
จักบรรลุสัมโพธิญาณได้
[143] ธรรมดาแผ่นดินย่อมทนทานต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงทุกอย่าง
ทั้งที่สะอาดและไม่สะอาด
ไม่ทำความยินดีและความขัดเคือง แม้ฉันใด
[144] ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน อดทนต่อการยกย่อง
และการดูหมิ่นของคนทั้งปวง
บำเพ็ญขันติบารมีแล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณได้’
[145] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้
เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป
[146] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นสัจจบารมีเป็นข้อที่ 7
ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน
ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า
[147] ‘ท่านจงยึดสัจจบารมีข้อที่ 7 นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน
ท่านมีคำพูดที่แน่นอน(ไม่เป็นสอง)ในสัจจบารมีนั้น
จักบรรลุสัมโพธิญาณได้
[148] ธรรมดาว่าดาวประกายพรึก
เป็นดาวนพเคราะห์ที่เที่ยงตรงในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่เคลื่อนไปจากวิถีโคจร ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน
ฤดูหนาว หรือฤดูฝน แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :586 }