เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
[97] ความไม่พอใจมิได้มีแก่สัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายต่างพากันยินดีอยู่ทั่วกันในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ สัตว์ทั้งหลายก็ยินดีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[98] โรคทั้งหลายต่างก็สงบระงับลง
และความหิวโหยก็หายไปในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ภาวะทั้ง 2 อย่างนั้นก็ปรากฏเหมือนกัน
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[99] ราคะก็เบาบางลงไป โทสะ และโมหะ
ต่างก็ถดถอยไปในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ กิเลสเหล่านั้นก็ปราศจากไปจนหมดสิ้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[100] ภัยมิได้มีในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้น
เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายจึงรู้ได้ว่า
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[101] ขณะนั้น ธุลีมิได้ฟุ้งขึ้นไปในอากาศ
แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้น
เพราะเครื่องหมายนั้น เราทั้งหลายจึงรู้ได้ว่า
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[102] กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาก็ปราศไปหมดสิ้น
กลิ่นทิพย์ก็หอมฟุ้งตลบไป(ในขณะนั้น)
แม้ในวันนี้ กลิ่นหอมก็ฟุ้งตลบไป
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[103] เทวดาทั้งปวงก็ได้พากันปรากฏกาย(ในขณะนั้น)
เว้นแต่อรูปพรหม แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้นทั้งหมด
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :580 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
[104] นรกทั้งหลายมีประมาณเท่าใด
ก็ได้ปรากฏทั้งหมดเท่านั้น ในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏทั้งหมด
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[105] กำแพง ประตู และภูเขา
ก็มิได้เป็นสิ่งที่ปิดกั้นได้ในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ทั้งหมดก็เปิดโล่ง
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[106] การจุติและการอุบัติ1ก็มิได้มีในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ การจุติและการอุบัติเหล่านั้นก็ปรากฏ
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
นิมิตเหล่านี้ย่อมปรากฏ
เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของสัตว์ทั้งหลาย
[107] ท่านจงบำเพ็ญความเพียรให้มั่นคง
อย่าถอยกลับ จงก้าวไปข้างหน้าเถิด
แม้เราทั้งหลายก็รู้ความเพียรนั้นอย่างแจ่มแจ้งว่า
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน’
[108] เราได้สดับพระพุทธดำรัสและคำ
ของเทวดาในหมื่นจักรวาลทั้ง 2 แล้ว
ก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ ได้คิดอย่างนี้ในกาลนั้นว่า
[109] ‘พระพุทธชินเจ้าทั้งหลาย มีพระดำรัสไม่เป็นสอง
มีพระดำรัสไม่เป็นโมฆะ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

เชิงอรรถ :
1 การจุติ หมายถึงการตาย การอุบัติ หมายถึงเกิด (ขุ.พุทฺธ.อ. 106/153)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :581 }