เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [44. เอกวิหาริวรรค] 1. เอกวิหาริยเถราปทาน
44. เอกวิหาริวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถระผู้อยู่ผู้เดียวเป็นต้น
1. เอกวิหาริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกวิหาริยเถระ
(พระเอกวิหาริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของท้าวมหาพรหม มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[2] พระองค์ไม่มีธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า1
ปราศจากธรรมเครื่องหน่วงเหนี่ยว
มีพระทัยเสมอด้วยอากาศ
มีปกติอยู่ในที่วิเวก เป็นผู้คงที่
ยินดีในอนิมิตตสมาธิ2 มีความชำนาญ(ในญาณ)
[3] มีพระทัยไม่เกี่ยวข้องในอารมณ์
ไม่มีตัณหาแปดเปื้อน
ไม่คลุกคลีในตระกูล ในหมู่คณะ
ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดในอุบายสำหรับแนะนำ
[4] ทรงขวนขวายในกิจของผู้อื่น
ทรงแนะนำทั้งมนุษย์และเทวดา
ทรงแนะนำทางไปสู่พระนิพพาน
อันสามารถยังเปือกตมคือคติให้เหือดแห้ง

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ที.ม.อ. 2/358/336)
2 อนิมิตตสมาธิ ในที่นี้หมายถึงอนิมิตตวิโมกข์ (ขุ.อป.อ. 1/133/245,516/341)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :58 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [44. เอกวิหาริวรรค] 1. เอกวิหาริยเถราปทาน
[5] และทรงแนะนำพระนิพพานอันเป็นอมตะ
มีความแช่มชื่นอย่างยิ่ง
เป็นธรรมเครื่องกั้นความแก่และความตาย
พระองค์ประทับนั่ง ท่ามกลางบริษัทใหญ่
ทรงช่วยสัตว์โลกให้ข้ามพ้น
[6] ผู้ทรงเป็นที่พึ่ง มีพระสุรเสียงไพเราะ
เหมือนเสียงนกการเวก
มีพระสุรเสียงก้องดังเสียงพรหม
ทรงถอนเวไนยสัตว์ผู้จะฉิบหาย
เพราะขาดผู้แนะนำขึ้นจากมหันตทุกข์
[7] ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้ทรงแสดงธรรมที่ปราศจากธุลีคือกิเลส
ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว จึงออกบวชเป็นภิกษุ
[8] ครั้นบวชแล้วในกาลนั้น
ข้าพเจ้าถูกความคลุกคลี1 บีบคั้น
คิดถึงคำสอนของพระชินเจ้า
จึงได้ไปอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
[9] การดับแห่งสักกายทิฏฐิอันเป็นเหตุแห่งความยึดมั่น
เกิดแก่ข้าพเจ้าผู้มีความวิเวกแห่งจิต
ผู้เห็นภัยในความเกี่ยวข้อง
[10] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

เชิงอรรถ :
1 ความคลุกคลี มี 5 อย่าง คือ (1) คลุกคลีด้วยการเห็น (2) คลุกคลีด้วยการฟัง (3) คลุกคลีด้วยการสัมผัส
ทางกาย (4) คลุกคลีด้วยการเจรจาปราศรัย (5) คลุกคลีด้วยการกินอยู่ร่วมกัน (ขุ.อป.อ. 1/92/185)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :59 }