เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [43. สกิงสัมมัชชกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[169] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสวัณณโกนตริกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
โสวัณณโกนตริกเถราปทานที่ 10 จบ
สกิงสัมมัชชกวรรคที่ 43 จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

1. สกิงสัมมัชชกเถราปทาน 2. เอกทุสสทายกเถราปทาน
3. เอกาสนทายกเถราปทาน 4. สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทาน
5. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน 6. ฆฏมัณฑทายกเถราปทาน
7. เอกธัมมสวนิยเถราปทาน 8. สุจินติตเถราปทาน
9. โสณณกิงกณิยเถราปทาน 10. โสวัณณโกนตริกเถราปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ 171 คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :57 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [44. เอกวิหาริวรรค] 1. เอกวิหาริยเถราปทาน
44. เอกวิหาริวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถระผู้อยู่ผู้เดียวเป็นต้น
1. เอกวิหาริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกวิหาริยเถระ
(พระเอกวิหาริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของท้าวมหาพรหม มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[2] พระองค์ไม่มีธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า1
ปราศจากธรรมเครื่องหน่วงเหนี่ยว
มีพระทัยเสมอด้วยอากาศ
มีปกติอยู่ในที่วิเวก เป็นผู้คงที่
ยินดีในอนิมิตตสมาธิ2 มีความชำนาญ(ในญาณ)
[3] มีพระทัยไม่เกี่ยวข้องในอารมณ์
ไม่มีตัณหาแปดเปื้อน
ไม่คลุกคลีในตระกูล ในหมู่คณะ
ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดในอุบายสำหรับแนะนำ
[4] ทรงขวนขวายในกิจของผู้อื่น
ทรงแนะนำทั้งมนุษย์และเทวดา
ทรงแนะนำทางไปสู่พระนิพพาน
อันสามารถยังเปือกตมคือคติให้เหือดแห้ง

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ที.ม.อ. 2/358/336)
2 อนิมิตตสมาธิ ในที่นี้หมายถึงอนิมิตตวิโมกข์ (ขุ.อป.อ. 1/133/245,516/341)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :58 }