เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
[3] เป็นนครที่สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทั้งปวง
ประกอบด้วยการงานทุกอย่าง
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ
คับคั่งไปด้วยหมู่ชนต่าง ๆ
เป็นนครที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเทพนคร
เป็นที่อยู่ของผู้มีบุญ
[4] เราเป็นพราหมณ์นามว่าสุเมธะ
อยู่ในกรุงอมรวดี สั่งสมทรัพย์ไว้หลายโกฏิ
มีทรัพย์สมบัติและธัญญาหารมากมาย
[5] เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพท
ถึงความสำเร็จในคัมภีร์ทำนายลักษณะ1
และอิติหาสะ2และในธรรมของตน
[6] นั่งอยู่ในที่สงัด คิดอย่างนี้ว่า
การเกิดในภพใหม่ และการแตกไปแห่งสรีระเป็นทุกข์
ความหลงตายเป็นทุกข์ ชีวิตถูกชราย่ำยี
[7] ก็ครั้งนั้น เรามีความเกิด ความแก่
ความป่วยไข้เป็นธรรมดา
เราจักแสวงหาพระนิพพาน
ที่ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม
[8] เอาเถิด เราควรเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย
ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย
[9] มรรคนั้นไม่อาจจะไม่เป็นเหตุ มรรคนั้นที่มีอยู่ก็จักมี
เราจักแสวงหามรรคนั้น เพื่อหลุดพ้นไปจากภพ

เชิงอรรถ :
1 ทำนายลักษณะ หมายถึงทำนายลักษณะหญิง ลักษณะชาย ลักษณะมหาบุรุษ (ขุ.พุทฺธ.อ. 5/108)
2 อิติหาสะ หมายถึงคัมภีร์พิเศษ ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ของพราหมณ์ว่าด้วยคำพูดว่าเป็นเช่นนี้ (ขุ.พุทฺธ.อ
5/108)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :568 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 2. สุเมธกถา
[10] เมื่อความทุกข์มี ชื่อว่าความสุขก็ต้องมีฉันใด
เมื่อภพมีอยู่ วิภพ1ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น
[11] เมื่อความร้อนมี ความเย็นอย่างอื่นก็ต้องมีฉันใด
เมื่อไฟ 32 อย่างมีอยู่
นิพพาน(ความดับ)ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น
[12] เมื่อความชั่วมี แม้ความดีก็ต้องมี ฉันใด
เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิดก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น
[13] บุรุษผู้ตกไปในหลุมคูถเห็นสระน้ำเต็ม
ไม่เข้าไปยังสระน้ำนั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของสระน้ำ ฉันใด
[14] เมื่อสระน้ำอมฤต3มีอยู่ บุคคลไม่แสวงหาสระน้ำนั้น
อันเป็นที่ชำระมลทินคือกิเลส
นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของสระน้ำอมฤต ฉันนั้น
[15] เมื่อทางไปมีอยู่ บุรุษนั้นถูกข้าศึกปิดล้อมไม่ยอมหนีไป
นั้นไม่ใช่ความผิดของหนทาง ฉันใด
[16] เมื่อทางเกษมมีอยู่ บุคคลถูกกิเลสปิดล้อม
ไม่แสวงหาทางนั้น นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของทางอันเกษม ฉันนั้น
[17] คนป่วย เมื่อหมอมีอยู่ ก็ไม่ให้หมอเยียวยา
ความป่วยไข้นั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของหมอ ฉันใด
[18] คนมีทุกข์ถูกความป่วยไข้คือกิเลสเบียดเบียน
ไม่แสวงหาอาจารย์ นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ผู้แนะนำ

เชิงอรรถ :
1 วิภพ หมายถึงธรรมที่ไม่ให้เกิด (ขุ.พุทธ.อ. 10/110)
2 ไฟ 3 หมายถึงไฟคือราคะ โทสะ และโมหะ (ที.ปา. (แปล) 11/305/268)
3 สระน้ำอมฤต ในที่นี้หมายถึงนิพพาน ( ขุ.พุทฺธ.อ. 14/111)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :569 }